ข่าวแวดวงปศุสัตว์

จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลโดยระบุว่ารัฐบาลนำเนื้อหมูติดเชื้ออหิวาห์แอฟริกามาขายให้ประชาชนในราคาถูก ทางกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่าข่าวที่แชร์กันในโซเชียลน่าจะสืบเนื่องจากมีการอภิปรายไม่ใว้วางใจรัฐบาล โดย สส. ฝ่ายค้านอภิปรายว่า รัฐบาลเอาหมูเป็นโรคตาย มาขายให้ประชาชน โดยนำสุกรปนเปื้อนเชื้อ ASF จำหน่ายที่ตลาด อตก. เมื่อวันที่ 12 – 19 กุมภาพันธ์ 2565 ตามโครงการเกษตรช่วยประชาชนลดค่าครองชีพ จำหน่ายราคา 140 บาท/ก.ก. ซึ่งเป็นเนื้อสุกรโครงการปศุสัตว์ OK” มีข้อเท็จจริง ดังนี้
 
 
1. บริษัทที่นำเนื้อสุกรเข้าร่วมโครงการ “เกษตรช่วยประชาชนลดค่าครองชีพ” เมื่อวันที่ 12 – 19 กุมภาพันธ์ 2565 นั้น เป็นโรงงานมาตรฐานที่ได้รับการรับรองเป็นโรงงานเพื่อการส่งออกและได้เข้าร่วมโครงการปศุสัตว์ OK กับกรมปศุสัตว์
2. กรมปศุสัตว์ได้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ไปกำกับดูแลการผลิตเนื้อสุกร และผู้ประกอบการได้ปฏิบัติตามมาตรการของกรมปศุสัตว์ในการควบคุมป้องกันโรค โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever: ASF) อย่างเคร่งครัด
3. ผู้ประกอบการสามารถนำเนื้อสุกรไปจำหน่ายได้ในราคากิโลกรัมละ 140 บาท เนื่องจากเป็นเนื้อสุกรที่ผลิตและเก็บไว้ในคลังสินค้า (stock) ที่มีการผลิตก่อนเดือนกุมภาพันธ์ 2565 และมีราคาต้นทุนสุกรมีชีวิตต่ำกว่าท้องตลาดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 จึงสามารถจำหน่ายเนื้อสุกรได้ในราคาถูก
 
4. กรมปศุสัตว์มีระบบการรายงานโรคระบาด ASF ในสุกรและการป้องกันโรค ASF ตลอดวงจรการผลิตตั้งแต่ฟาร์ม – โรงงาน รวมทั้งมีการตรวจสุขภาพสุกร การสุ่มเก็บตัวอย่างก่อนการเคลื่อนย้ายสุกรเข้าโรงฆ่า ดังนั้น จึงสามารถคัดกรองเฉพาะสุกรสุขภาพดีเท่านั้นเข้าฆ่าเพื่อจำหน่าย และหากพบสุกรเป็นโรค ASF เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสามารถรายงานผู้บังคับบัญชารับทราบได้ทันที กรณีเนื้อสุกรที่ผลิตในโรงงานที่เข้าร่วมโครงการเกษตรช่วยประชาชนลดค่าของชีพที่ตลาด อตก. เมื่อวันที่ 12 – 19 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นเนื้อสุกรจาก Stock และผ่านการตรวจวิเคราะห์หาเชื้อ ASF ตามหลักวิชาการและไม่พบการปนเปื้อนเชื้อ ASF
5. กรมปศุสัตว์ได้กำหนดหลักเกณฑ์การสุ่มเก็บตัวอย่างเพื่อเฝ้าระวังโรค ASF ในโรงฆ่าสุกรเพื่อการส่งออก โดยบริษัทได้เก็บตัวอย่างส่งห้องปฏิบัติการของกรมปศุสัตว์ เพื่อตรวจวิเคราะห์หาเชื้อ ASF ได้แก่ ตัวอย่างเลือดสุกร ก่อนเคลื่อนย้ายเข้าสู่โรงฆ่า การเก็บตัวอย่างสิ่งแวดล้อมด้วยการ swab พื้นที่ (อาคารโรงงาน เครื่องจักร อุปกรณ์) และสุ่มเก็บตัวอย่างเนื้อสุกร รวม 2,535 ตัวอย่าง ซึ่งทุกตัวอย่างตรวจไม่พบเชื้อ ASF
 
ดังนั้นข้อมูลที่มีการโพสต์ และแชร์ต่อในขณะนี้ จึงเป็นข้อมูลบิดเบือน ขอความร่วมมือประชาชน ไม่แชร์ ไม่ส่งต่อข่าวดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมปศุสัตว์ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.dld.go.th หรือโทร. 02 6534444
 
ข้อมูล : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานภาครัฐ 4.0 ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มายกระดับการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มารับบริการอย่างต่อเนื่อง ตอบสนองต่อนโยบายของรัฐ เพื่อให้บริการได้รวดเร็วมีประสิทธิภาพ ลดขั้นตอนในการปฏิบัติงาน อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และเป็นการเพิ่มศักยภาพและโอกาสในการแข่งขั้นภาคธุรกิจของประเทศไทย ได้มีการใช้งานยกระดับระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ ด้านอาหารสัตว์และวัตถุอันตรายด้านการปศุสัตว์ โดยมีบริการตั้งแต่ยื่นคำขออนุญาต การจ่ายเงิน (e-Payment) การอนุมัติและลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature) ตลอดจนใบอนุญาตอิเล็กทรอนิกส์ (e-License) จนถึงการออกใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Receipt สำหรับการชำระค่าธรรมเนียมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้ระบบ National Single Window (NSW) เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป
 
กรมปศุสัตว์จึงได้ออกประกาศกรมปศุสัตว์ เรื่อง การออกใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Receipt กรณีชำระค่าธรรมเนียมผ่านระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ด้านอาหารสัตว์และวัตถุอันตรายด้านการปศุสัตว์ พ.ศ. 2565 เพื่อให้บริการได้ด้วยความสะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องเดินทางมารับบริการด้วยตัวเอง ลดขั้นตอนการทำงาน ลดการใช้เอกสารและกระดาษ โปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยสามารถออกใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ ตามที่กระทรวงการคลังกำหนด ผ่านธนาคารสำหรับส่วนราชการที่ดำเนินการภายใต้ระบบ NSW โดยจะออกใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ผู้ชำระเงินทางระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ด้านอาหารสัตว์และวัตถุอันตรายด้านการปศุสัตว์ ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อใช้เป็นหลักฐานการรับชำระเงินของกรมปศุสัตว์ ผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบข้อมูลใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ได้ทางระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ของกรมปศุสัตว์ ผ่านทาง QR Code ที่ปรากฏบนใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ของการชำระเงินได้ในแต่ละครั้ง
 
ด้านนายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์โดยกองควบคุมอาหารและยาสัตว์ได้เริ่มพัฒนาและปรับปรุงระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ด้านทะเบียนใบอนุญาตอาหารสัตว์ และวัตถุอันตรายด้านการปศุสัตว์ มาตั้งแต่ปี 2559 อย่างต่อเนื่อง มุ่งพัฒนายกระดับงานบริการด้านการอนุญาตนำเข้า-ส่งออก การผลิต การขาย การออกหนังสือรับรองสุขอนามัย (Health Certificate) ของอาหารสัตว์และวัตถุอันตรายด้านการปศุสัตว์ ต่อมาได้มีการพัฒนาการชำระเงินผ่านระบบ e-Payment และได้เชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมศุลกากร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เป็นต้น และในปี 2564 ได้มีการพัฒนาระบบการตรวจสอบอัตโนมัติ (Automated service) เพื่อช่วยตรวจสอบคำขอ และระบบการลงนามด้วยลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature) โดยในปี 2565 ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม นี้ เป็นการบริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ กรมปศุสัตว์ได้ออกใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ผู้ประกอบการที่ชำระเงินค่าธรรมเนียมผ่านระบบ e-payment แล้ว สามารถรับใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ของกรมปศุสัตว์ได้ทันที ซึ่งจะอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป ให้เข้าถึงบริการของภาครัฐ ได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตวิถีถัดไป (Next normal) ที่ประชาชนมีการใช้บริการต่างๆ ผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการข่าวสารหรือข้อมูลเพิ่มเติมสามารถค้นหาได้ที่ www.dld.go.th หรือที่แอพพลิเคชั่น DLD 4.0 หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ 06-3225-6888 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง... สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://www.dailynews.co.th/news/1268731/
 
ข้อมูล : เดลินิวส์ ออนไลน์
นายสัตวแพทย์ สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากการตรวจประเมินระบบด้านความปลอดภัยอาหารของหน่วยงานกระทรวงความปลอดภัยอาหารและยา (Ministry of Food and Drug Safety of the Republic of Korea :MFDS) สาธารณรัฐเกาหลีใต้ ในประเทศไทยช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2565 เกาหลีใต้มีความเชื่อมั่นในระบบการผลิตสินค้าปศุสัตว์ของไทยได้คุณภาพมาตรฐานสอดคล้องหลักความปลอดภัยอาหารตลอดห่วงโซ่การผลิต โดยได้ให้ความสนใจอย่างยิ่งในสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ปีกของไทย ซึ่งเป็นที่ต้องการและนำเข้าเป็นอันดับ 1 ในเกาหลีใต้ นั้น
ล่าสุดวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 นี้ กรมปศุสัตว์ ประเทศไทยได้ลงนามข้อตกลงร่วมกับหน่วยงานกระทรวงความปลอดภัยอาหารและยา สาธารณรัฐเกาหลีใต้ ในการออกหนังสือรับรองสุขอนามัยอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ Blockchain (Agreement on the Electronic Exchange of Health Certificates Using the Blockchain System) เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกทางการค้าและเป็นการนำร่องการออกใบรับรองสุขอนามัยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในสินค้าปศุสัตว์ ซึ่งการลงนามข้อตกลงนี้เป็นการนำร่องแห่งแรกในประเทศไทยของสาธารณรัฐเกาหลีใต้
โดย วันที่ 19 กรกฎาคม 2565 ได้มีการลงนามผ่านระบบวิดิทัศน์ทางไกล ในข้อตกลงการออกหนังสือรับรองสุขอนามัยอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ Blockchain (Agreement on the Electronic Exchange of Health Certificates Using the Blockchain System) ระหว่างกรมปศุสัตว์
ประเทศไทย ร่วมกับ หน่วยงานกระทรวงความปลอดภัยอาหารและยา สาธารณรัฐเกาหลีใต้
โดยนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ผู้แทนฝ่ายไทยและ นางสาวคิม ยู มิ (Kim Yoo Mi) อธิบดีจาก Imported Food Safety Policy Bureau ผู้แทนฝ่ายสาธารณรัฐเกาหลีใต้ โพร้อมด้วยสักขีพยานเพื่อร่วมเป็นเกียรติ ประกอบด้วย นายสมศักดิ์ วิวิธเกธยูรวงศ์ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายเกษตร) ประจำกรุงโตเกียว นายสัตวแพทย์อภินันท์ คงนุรัตน์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ ผู้แทนจากกองความร่วมมือด้านการปศุสัตว์ระหว่างประเทศ และกองสารวัตรและกักกัน
 
 
โดยการทำข้อตกลงการทำใบรับรองสุขอนามัยอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ Blockchain จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนสิงหาคม 2565 นี้ เพื่อให้เกิดการอำนวยความสะดวกเรื่องการรับส่งใบรับรองสุขอนามัยสำหรับสินค้าปศุสัตว์จากไทยไปสาธารณรัฐเกาหลีใต้ โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มเนื้อสัตว์ปีก ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่ผู้บริโภคเกาหลีใต้ได้ให้ความชื่นชอบ ซึ่งในปี 2564 สาธารณรัฐเกาหลีได้มีการนำเข้าสินค้าเนื้อสัตว์ปีกจากไทยเป็นอันดับหนึ่ง โดยมีปริมาณการนำเข้ากว่า 35,000 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 3,995 ล้านบาท
 
" กรมปศุสัตว์ ประเทศไทยรู้สึกเป็นเกียรติและยินดีอย่างยิ่งที่ได้ทำความตกลงร่วมกันกับทางสาธารณรัฐเกาหลีใต้ นับเป็นการพัฒนาและยกระดับความสัมพันธ์อันดีระหว่างหน่วยงานของสองประเทศ ต้องขอขอบคุณทางสาธารณรัฐเกาหลีใต้ที่เชื่อมั่นและร่วมพัฒนายกระดับบริการในการอำนวยความสะดวกทางการค้าด้านสินค้าปศุสัตว์ และสัญญาว่าจะรักษาคุณภาพมาตรฐานผลิตสินค้าและส่งสินค้าที่มีคุณภาพดีที่ดีที่สุดมาให้ผู้บริโภค โดยจะขยายผลความร่วมมือด้านปศุสัตว์ไปยังประเทศอื่นๆ ต่อไป"
 
ข้อมูล : กรุงเทพธุรกิจ
 

น.สพ.ธนวัฒน์ คงเจริญสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไบโอซายน์ แอนิมัล เฮลธ์ (มหาชน) หรือBIS เปิดเผยว่า ธุรกิจกัญชง เป็นธุรกิจใหม่ที่ กลุ่ม BIS ได้วางแผนเพื่อพัฒนาสินค้าปศุสัตว์และสัตว์เลี้ยง ต่อยอดการผลิตและใช้ประโยชน์เพื่อยกระดับกัญชง กัญชาให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นโดย BIS มีแผนพัฒนากัญชง กัญชาในการรักษาและยกคุณภาพชีวิตในสัตว์แบบครบวงจร เนื่องจากงานวิจัยพบว่ากัญชงเป็นพืชที่มีโปรตีนสูงมากและของเหลือจากการเก็บเกี่ยวหรือการนำมาแปรรูป สามารถนำมาเพิ่มมูลค่าในการผลิตเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ได้

อีกทั้งปัจจุบันตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงมีการเติบโตค่อนข้างสูงในประเทศ และต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง และเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีอนาคตไกล จึงสามารถสร้างความแตกต่างและเพิ่มศักยภาพในการเข้าแข่งขันสู่ตลาดอาหารสัตว์โลก และสร้างอาชีพให้กับเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นได้

โดยล่าสุด บริษัท นิวทริชั่น อิมพรูฟเมนท์ จำกัด บริษัทในเครือของ BIS Group ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) ร่วมมือสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาด้านการใช้ประโยชน์พืชสมุนไพรทางสัตวแพทย์ กับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้กัญชง กัญชา เชิงเภสัชในด้านตลาดปศุสัตว์และสัตว์เลี้ยง

น.สพ.ปรเมศวร์ ขำภักตร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ BIS กล่าวว่า ปัจจุบัน กัญชง กัญชา มีการวิจัยและใช้ช่วยรักษาในมนุษย์อย่างแพร่หลายและเป็นที่ยอมรับในประสิทธิภาพมากขึ้น บริษัท นิวทริชั่น อิมพรูฟเมนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย BIS ได้เล็งเห็นถึงโอกาสและประโยชน์ที่พืชสมุนไพรจะสามารถช่วยเรื่องการรักษา และยกคุณภาพชีวิตในสัตว์ได้

ดังนั้นจึงได้จับมือร่วมกับ คณธสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อทำการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาการใช้ประโยชน์พืชกัญชง กัญชา อาทิ ด้านเภสัชกรรม สารเสริมสุขภาพตามหลักวิชาการ และถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงการพัฒนาบุคลากรให้เพิ่มพูนความรู้ ทักษะในการผลิตและใช้ประโยชน์จากกัญชง เพื่อเป็นการยกระดับการใช้ประโยชน์จากพืชกัญชงให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ซึ่งนับเป็นโอกาสและแนวโน้มที่ดีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่อตอบรับนโยบายการเปิดประเทศของรัฐบาลและสร้างความท้าทายทางเศรษฐ พร้อมนวัตกรรมใหม่ๆอีกด้วย

ล่าสุดผลประกอบการไตรมาส 1/2565 ของ BIS มีรายได้รวม 540 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวม 429 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2 % และมีกำไรสุทธิ 17 ล้านบาท เติบโต 47 % จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 11.5 ล้านบาท ซึ่งผลประกอบการทั้งรายได้และกำไรของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดย 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์หลัก ดังนี้

1.กลุ่มยาและวัคซีนสัตว์ (Animal Health)

2.กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและวิตามินสัตว์(Nutrition)

3.กลุ่มชุดตรวจโรคสัตว์ (Diagnostic)

ทั้ง 3 กลุ่มรวมกันสร้างรายได้ 65 % ของรายได้รวม โดยเฉพาะชุดตรวจโรอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine : AFS) มีการเติบโตของรายได้สูงสุด เพราะเป็นอุปกรณ์สำคัญในการควบคุมการแพร่กระจายโรคนี้ ซึ่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมปศุสัตว์โดยตรง จึงมีความต้องการสูงจากกลุ่มฟาร์มสุกร นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์กลุ่มวัตถุดิบอาหารสัตว์ มีรายได้เติบโตสูงเช่นกัน

ข้อมูล : หนังสือพิมพ์รายวันข่าวหุ้น กระบอกเสียงอิสระแหล่งตลาดทุน ธุรกิจ

นางเพ็ญศิริ วงษ์วาท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 อุดรธานี (สศท.3) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เห็นความสำคัญของการเลี้ยงแพะ จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์แพะปี 2560 – 2564 ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนาอาชีพการเลี้ยงแพะให้ยั่งยืน มีผลผลิตที่มีคุณภาพเพียงพอต่อการบริโภค การตลาดและการแปรรูปผลผลิตและผลิตภัณฑ์จากแพะ รวมถึงส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร ผู้เลี้ยงแพะ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการลดต้นทุน
 
 
 
หากมองถึงสถานการณ์การผลิตแพะเนื้อจังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า ปี 2564 (ข้อมูลจากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอุดรธานี ณ 13 สิงหาคม 2564) มีเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะเนื้อ 785 ราย แพะเนื้อ 16,713 ตัว มีการเลี้ยงกระจายในหลายอำเภอ แหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่อำเภอเมืองและอำเภอหนองหาน เกษตรกรนิยมเลี้ยงสายพันธุ์ลูกผสมบอร์ เนื่องจากเลี้ยงง่าย โตเร็ว อัตราการให้ลูกแฝดสูง และเป็นที่นิยมของตลาด ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 2,100 บาท/ตัว แยกเป็นค่าพันธุ์สัตว์ 105 บาท ค่าแรงงาน 867 บาท ค่าอาหาร 140 บาท และส่วนที่เหลือ 988 บาท เป็นค่ายาป้องกันโรค ค่าเวชภัณฑ์ ค่าเสื่อมโรงเรือนและอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยแม่พันธุ์ 1 ตัว ให้ผลผลิตลูกแพะ 1-3 ตัว/รุ่น สำหรับแพะเพศเมีย จะเริ่มผสมพันธุ์ได้ตั้งแต่อายุ 8 เดือนไปจนถึงอายุประมาณ 5-7 ปี มีระยะเวลาการตั้งท้อง 5 เดือน พักท้อง 1-2 เดือน ส่วนแพะเพศผู้ จะเริ่มผสมพันธุ์ตอนอายุประมาณ 1 ปี หลังจากนั้น 2-3 ปี จะทำการปลดระวางหรือจำหน่ายให้กับฟาร์มอื่น เพื่อป้องกันการเกิดกรณีเลือดชิด ซึ่งแพะจะมีอายุเฉลี่ย 15 ปี เกษตรกรสามารถจำหน่ายแพะเนื้ออายุเฉลี่ย 4-6 เดือน ในราคา 3,000 – 3,500 บาท/ตัว หรือ 120 – 140 บาท/กก. (น้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 25 กก./ตัว) ถ้าเป็นพันธุ์ลูกผสมปริมาณเนื้อแดงมาก จะขายได้ในราคา 140 บาท/กก. ส่วนพันธุ์พื้นเมืองเนื้อน้อย จะขายได้ในราคา 120 บาท/กก. คิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 900 – 1,400 บาท/ตัว
ด้านสถานการณ์ตลาดแพะเนื้อจังหวัดอุดรธานี เกษตรกรจะจำหน่ายผลผลิตให้กับพ่อค้าผู้รวบรวมจากจังหวัดอุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ และสกลนคร เพื่อส่งจำหน่ายทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ลาว และเวียดนาม อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ส่งผลให้ระบบขนส่งภายในประเทศมีความยากลำบาก ราคาในช่วงนี้ลดลงอยู่ที่ 80 – 120 บาท/กก. หากสถานการณ์ดังกล่าวคลี่คลาย สามารถส่งออกได้ตามปกติ คาดว่าราคาซื้อขายแพะเนื้อจะมีการปรับตัว ไปในทิศทางที่ดีขึ้น
 
 
ผู้อำนวยการ สศท.3 กล่าวเพิ่มเติมว่าการเลี้ยงแพะเนื้อจะใช้พื้นที่ไม่มากนัก สามารถกินอาหารได้หลากหลาย เช่น อาหารหยาบ ได้แก่ ฟางข้าว หญ้าสด ใบกระถินส่วนอาหารข้น ได้แก่ อาหารสำเร็จรูปรำข้าวละเอียด และยังมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี แพะเนื้อจึงเป็นสัตว์ที่ขยายพันธุ์ได้เร็ว และใช้ระยะเวลาการเลี้ยงสั้น ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้หมุนเวียนตลอดปี และให้ผลตอนแทนที่คุ้มค่าต่อการลงทุน อย่างไรก็ตาม เกษตรกรควรเฝ้าระวังโรคท้องอืด ท้องเสีย พยาธิ และในช่วงหน้าฝนอาจต้องเสริมอาหารสำเร็จรูปหรืออาหารข้น เช่น รำข้าวละเอียด และให้กินก้อนแร่ธาตุเพื่อป้องกันการเกิดโรคไข้นม ทั้งนี้ หากเกษตรกรหรือท่านใดที่สนใจข้อมูลการผลิตแพะเนื้อจังหวัดอุดรธานี สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอุดรธานี โทร 0 4222 2984 หรือ สศท.3 อุดรธานี โทร 0 4229 2557 หรืออีเมล์ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
 
 
ข้อมูล : สถานีวิทยุกระจายเสียงเพื่อการเกษตร
30 มิถุนายน 2565 กรมปศุสัตว์ตรวจพบเนื้อสุกรเถื่อน ไม่ทราบแหล่งที่มา และลักลอบนำเข้า เจ้าหน้าที่บุกค้นใจกลางเมืองนครปฐม สั่งอายัดของกลางกว่า 59,000 กิโลกรัม
หลังได้รับแจ้งเบาะแส มีการลักลอบนำเข้าซากสุกรจากต่างประเทศ มาเก็บซุกซ่อนไว้ในห้องเย็นแห่งหนึ่งกลางเมืองนครปฐม
นายสัตวแพทย์ สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้สั่งการด่วน ให้เจ้าหน้าที่กองสารวัตรและกักกันพร้อมด่านกักกันสัตว์ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบซากสัตว์นำเข้าจากต่างประเทศ และซากสัตว์ไม่ทราบแหล่งที่มา ทั้งหมด 5 รายการ ได้แก่ ชิ้นส่วนขาสุกร ระบุข้างกล่องจากประเทศโปแลนด์ จำนวน 1,510 กล่อง รวม 22,650 กิโลกรัม, ชิ้นส่วนขาสุกร ไม่ระบุแหล่งที่มา จำนวน 80 กล่อง รวม 2,655 กิโลกรัม, ชิ้นส่วนสุกร ยี่ห้อ seara 1,433 กล่อง อีก 26,984 กิโลกรัม, ชิ้นส่วนสุกรกล่องเขียว ยี่ห้อ west fleisch germany 500 กล่อง จำนวน 5,000 กิโลกรัม และชิ้นส่วนขาสุกร กล่องขาว ไม่ทราบแหล่งที่มา 180 กล่อง จำนวน 1,800 กิโลกรัม รวม 3,703 กล่อง จำนวนรวมทั้งหมด 59,089 กิโลกรัม เจ้าหน้าที่จึงได้อายัดซากสัตว์ไว้เพื่อตรวจสอบหาแหล่งที่มา และลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานในการเข้าตรวจสอบไว้ที่ สภ.เมืองนครปฐม และแจ้งให้ผู้ประกอบการนำเอกสารใบอนุญาตนำเข้าและใบอนุญาตเคลื่อนย้ายซากสัตว์มาแสดงภายใน 15 วัน หากไม่สามารถนำมาแสดงได้ จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลเพิ่มเติม สามารถแจ้งได้ที่แอปพลิเคชัน DLD 4.0 หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225-6888 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง
 
ข้อมูล : Ch7
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า หลังสถานการณ์โควิดทั่วโลกดีขึ้นต่อเนื่อง เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว และรัฐบาลประกาศเปิดประเทศ ส่งผลให้สินค้าปศุสัตว์ของไทยเป็นที่ต้องการทั่วโลก เพียง 5 เดือนแรกของปี 65 มียอดส่งออกแล้วกว่า 1,014,611 ตัน คิดเป็นมูลค่า 106,656.17 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 20.82% (เทียบกับปี 64) สะท้อนความเชื่อมั่นของประเทศคู่ค้าในการตรวจสอบ ควบคุมคุณภาพการผลิตของไทย
ส่วนสินค้าปศุสัตว์ยอดฮิตของไทย ได้แก่ เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่น เนื้อไก่แปรรูป สินค้ากลุ่ม Non-frozen เช่น ไข่-ผลิตภัณฑ์ไข่ นม-ผลิตภัณฑ์นม น้ำผึ้ง รังนก ซุปไก่สกัด อาหารกระป๋อง อาหารสัตว์เลี้ยง (Pet food) และอาหารปศุสัตว์
 
สำหรับแนวโน้มช่วงครึ่งปีหลังปีนี้ คาดว่ายอดการส่งออกจะยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากไทยมีการเจรจาเปิดตลาดและขยายตลาดการส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น ประเทศสิงคโปร์ผ่อนปรนมาตรการนำเข้าสินค้าเนื้อสัตว์ปีกดิบ มาเลเซียเร่งนำเข้าเนื้อสัตว์ปีกจากไทยมากขึ้น ขณะที่ซาอุดีอาระเบียเริ่มนำเข้าไก่จากไทยหลังระงับมานาน พร้อมขึ้นทะเบียนโรงงานสัตว์ปีกไทยเพิ่มอีก 11 โรงงาน ฯลฯ
 
ข้อมูล : สำนักข่าวอินโฟเควสท์
27 มิถุนายน 2565ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีข้อความปรากฎในสื่อออนไลน์ต่างๆ ในประเด็นเรื่องถ่านสามารถรักษาโรคลัมปีสกินในวัวได้ ทางกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า ยังไม่พบข้อมูลว่าผงถ่านดังกล่าวมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย และผงถ่านทั่วไปที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการเผาด้วยความร้อนสูง เพื่อให้ได้ผงอนุภาคเล็กที่มีรูพรุนเป็นผงถ่านชาร์โคลนั้น ยังไม่พบการรายงานการใช้ในการรักษาทางการแพทย์
 
การใช้ถ่านในการทาบริเวณแผลในสัตว์ที่เป็นโรคลัมปีสกิน อาจเป็นเพียงการใช้สำหรับการดูดซับกลิ่นจากแผลที่ผิวหนัง ลดการตอมและการชอนไชของแมลงพาหะหรือบรรเทาอาการจากการอักเสบของแผลเท่านั้น อย่างไรก็ตามหากนำถ่านที่ไม่มีความสะอาดเพียงพอไปใช้ในการทาแผล อาจทำให้แผลเกิดการติดเชื้อลุกลามมากขึ้นหรือเกิดเป็นแผลเรื้อรังได้
 
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ยังไม่พบการรายงานการใช้ในการรักษาทางการแพทย์ ว่าผงถ่านดังกล่าวมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย
 
หน่วยงานที่ตรวจสอบ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจาก กรมปศุสัตว์ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.dld.go.th หรือโทร. 02 6534444
 
ข้อมูล : MGR online

21 มิถุนายน 2565 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยว่า ตามที่มีรายงานข่าวออนไลน์ถึงผลการศึกษาในประเทศไทย พบคนติดเชื้อไวรัสโคโรน่าจากแมว (COVID-19) เมื่อปีที่แล้ว โดยอ้างอิงจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ได้รับการตีพิมพ์เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 ว่า มีพ่อลูกคู่หนึ่ง วัย 64 และ 32 ปี มีอาการป่วยและตรวจพบเชื้อ COVID-19 ส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2564 ทั้ง 2 คนได้พาแมวที่เลี้ยงมาด้วย เมื่อมาถึงแมวถูกส่งไปยังโรงพยาบาลสัตว์เพื่อทำการตรวจ โดยสัตวแพทย์หญิงวัย 32 ปี ตรวจหาเชื้อด้วยการแยงจมูกและทวารหนัก ซึ่งพบผลเป็นบวกต่อเชื้อ COVID-19 โดยในขณะที่กำลังตรวจนั้น แมวได้จามใส่สัตวแพทย์ ที่มีการป้องกันโดยใส่ถุงมือ หน้ากากอนามัย แต่ไม่ได้ใส่เฟสชีลด์ ต่อมาในวันที่ 13 สิงหาคม 2564 หรือ 5 วันหลังจากนั้น สัตวแพทย์หญิงเริ่มมีอาการของการติดเชื้อ COVID-19 เช่น ไอและเป็นไข้ แต่ยังไม่ได้ไปพบแพทย์ จนกระทั่งวันที่ 15 สิงหาคม 2564 ได้ตรวจพบผลเชื้อไวรัสเป็นบวก

ซึ่งเมื่อวิเคราะห์การศึกษาลำดับจีโนม ประกอบกับระยะเวลาการติดเชื้อที่ใกล้เคียงกัน พบว่า การติดเชื้อของทั้งสัตวแพทย์หญิง แมว และเจ้าของอีก 2 คน มีความเกี่ยวข้องกันในทางระบาดวิทยา และเชื้อที่พบนั้น ยังไม่มีการระบาดในพื้นที่ของสงขลา และเนื่องจากสัตวแพทย์หญิงไม่เคยพบกับเจ้าของแมวมาก่อน ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานในครั้งนี้คือ สัตวแพทย์น่าจะติดเชื้อ COVID-19 มาจากที่แมวจามใส่หน้า การศึกษาครั้งนี้ถือเป็นรายงานชี้มีการแพร่ระบาดจากสัตว์สู่คนได้ แต่อย่างไรก็ดี พบว่าอัตราการเกิดของการแพร่ระบาดจากสัตว์สู่คนเป็นความเสี่ยงที่พบได้น้อยมาก

เชื้อไวรัสโคโรน่านั้นมีหลายชนิด บางชนิดสามารถทำให้เกิดโรคคล้ายหวัดในคน และบางชนิดทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้ในสัตว์ เช่น วัวควาย อูฐ และค้างคาว เชื้อไวรัสโคโรนาในสุนัขและแมว สามารถแพร่ระบาดในสัตว์เท่านั้นและไม่แพร่ระบาดในคน สัตว์ในสวนสัตว์หรือเขตรักษาพันธุ์ เช่น กอริลล่า มิงค์ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ สามารถติดเชื้อไวรัสโคโรน่าได้ โดยส่วนใหญ่ติดเชื้อหลังจากสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ COVID-19 นอกจากนี้ องค์การสุขภาพสัตว์โลก (WOAH) ได้มีการรายงานว่าสัตว์ป่า เช่น กวางหางขาวมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นแหล่งรังโรคของเชื้อไวรัสโคโรน่าจึงจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติ่มและประเมินถึงผลกระทบอื่นที่อาจตามมาได้เช่นกัน ถึงแม้ว่าขณะนี้ ยังไม่มีหลักฐานแสดงถึงการแพร่กระจายที่แน่ชัด แต่การแพร่กระจายเชื้อจากมนุษย์เข้าไปสู่ประชากรกวางหางขาวนั้นเกิดขึ้นหลายครั้ง ดังนั้นจึงควรมีการสร้างความตระหนักให้กับนักล่าและผู้ที่อาศัยหรือทำงานกับสัตว์ป่า เพื่อหลีกเลี่ยงปฏิสัมพันธ์ที่ไม่จำเป็นกับสัตว์ป่าและหลีกเลี่ยงการทิ้งขยะหรือวัตถุของมนุษย์ไว้ในพื้นที่ป่าที่สัตว์ป่าสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยได้ร่วมมือกับ WOAH ในการรายงานเหตุการณ์การติดเชื้อไวรัสโคโรน่าในประเทศ โดยประเทศไทยได้ทำการรายงานการติดเชื้อว่ามีการติดเชื้อในสุนัขและแมว

โดยจากการสอบสวนสาเหตุพบว่าทุกเคสที่รายงานนั้นสัตว์เลี้ยงติดเชื้อจากการที่เจ้าของติดเชื้อ COVID-19 ทั้งสิ้น นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ ประเทศไทยยังมีโครงการการเฝ้าระวังการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าในสัตว์เลี้ยงที่มีอาการเสี่ยง เช่น มีการแสดงอาการทางระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น หรือสัตว์เลี้ยงที่มาจากต่างประเทศพร้อมกับเจ้าของ โดยผลจากการตรวจเฝ้าระวังดังกล่าว ทำการตรวจวิเคราะห์หาเชื้อโดยสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ในขณะนี้ ทุกตัวอย่างที่ให้ผลเป็นลบ ถึงแม้จะมีงานวิจัยรายงานว่าคนสามารถติดเชื้อจากแมวดังกล่าวได้นั้น แต่ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อได้ให้ข้อมูลว่า ความเสี่ยงจากการติดเชื้อจากสัตว์สู่คนนั้นยังอยู่ในระดับต่ำมาก ดังนั้น จึงขอให้ทุกท่านอย่าตระหนก หมั่นดูแลสัตว์เลี้ยงของท่านด้วยความใกล้ชิด อย่าปล่อยหรือทิ้งสัตว์เลี้ยงของท่านเพราะความกลัวจากสถานการณ์หรือข่าวดังกล่าว และหากเจ้าของสัตว์เลี้ยงมีอาการป่วยของ COVID-19 ขอให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยง
     
ท้ายนี้ กรมปศุสัตว์ ขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์และเจ้าของสัตว์เลี้ยงทุกท่านให้ดูแลสัตว์ของตนเองให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง และป้องกันสัตว์ของตนเองไม่ให้สัมผัสกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่จะนำเชื้อโรคเข้าสถานที่เลี้ยงสัตว์ พร้อมกับให้หมั่นสังเกตอาการของสัตว์อย่างสม่ำเสมอ หากพบสัตว์แสดงอาการน่าสงสัยให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ หรือโทรแจ้งสายด่วนของกรมปศุสัตว์ที่เบอร์โทร 063-225-6888 หรือผ่านแอปพลิเคชัน DLD 4.0 “แจ้งการเกิดโรคระบาด” เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรได้ทันท่วงที อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวในที่สุด

ข้อมูล : Ch7

พ.ร.บ.วิชาชีพการสัตวบาล พ.ศ. 2565 ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรเป็นที่เรียบร้อย ในวันพุธที่ 22 มิถุนายน 2565 เวลา 14.25 น. ด้วยมติเห็นด้วย 236 คะแนนเสียง จากจำนวนผู้ลงมติ 240 คน ไม่มีคนที่ไม่เห็นด้วย งดออกเสียง 1 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 3 เสียง

 

หมวดหมู่รอง

ผู้เลี้ยง 6 ภาคเตรียมยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรั๊มป์ ขอให้ระงับการกดดันรัฐบาลไทยให้เปิดตลาดเนื้อสุกรจากสหรัฐเพื่อรักษามิตรภาพที่ดีระหว่างพลเมืองของไทยและสหรัฐอเมริกา

 

 

ผู้เลี้ยง 6 ภาคเตรียมยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรั๊มป์ ขอให้ระงับการกดดันรัฐบาลไทยให้เปิดตลาดเนื้อสุกรจากสหรัฐเพื่อรักษามิตรภาพที่ดีระหว่างพลเมืองของไทยและสหรัฐอเมริกา

8 พฤษภาคม 2561 สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ - ผู้เลี้ยงสุกรทั่วไทย 6 ภาคเตรียมยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรั๊มป์ ขอให้ระงับการกดดันรัฐบาลไทยให้เปิดตลาดเนื้อสุกรจากสหรัฐเพื่อรักษามิตรภาพที่ดีระหว่างพลเมืองของไทยและสหรัฐอเมริกา เพราะปี 2561 ครบรอบการเปิดสัมพันธ์ทางการทูตครบ 200 ปี หลังเปิดความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

วันที่ 9 พฤษภาคม 2561 พิธีไหว้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั่วไทย โดยใช้หัวหมูรวมจำนวน 4,247 หัว จะเป็นหน้าหนึ่งแห่งประวัติศาสตร์ของวงการสุกรไทย ที่มีพัฒนาการการเลี้ยงสู่ระดับโลก แต่ยังมีเกษตรกรอีกจำนวนมากที่จะต้องช่วยกันนำพากันสู่อาชีพที่มั่นคง ยั่งยืน ให้เป็นมรดกการทำกินตกทอดต่อกันไปชั่วลูกชั่วหลาน นอกเหนือจากการสร้างอาหารปลอดภัยให้ประชากรของชาติ

ความพยายามเปิดตลาดเนื้อสุกรสู่ประเทศไทยที่มีมากอย่างยาวนานของสหรัฐอเมริกา โดยอาจมองข้ามความสัมพันธ์ที่ดีของทั้งสองประเทศ จนอาจกลายเป็นการสร้างปมบาดหมางกันระหว่างพลเมืองของสองประเทศ ที่มีบริษัทข้ามชาติของสหรัฐมาประกอบธุรกิจและได้รับการอุดหนุนด้วยดีเสมอมากับพลเมืองของไทย  

ในพิธีครั้งนี้นอกเหนือจากการไหว้สักการะและยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านผู้นำภูมิภาค พร้อมกันนี้จะมีการหนังสือถึง ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรั๊มป์           ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) สภาผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติสหรัฐ(NPPC) และท่านเอกอัครราชทูต กลิน ที. เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยด้วย  โดยเน้นให้มองลึกถึงมิตรภาพและการไม่เปิดตลาดโดยมองข้ามความสัมพันธ์ที่ดีของพลเมืองทั้งสองประเทศ

เนื้อหาให้จดหมายภาษาอังกฤษจะเป็นดังนี้ :

เรียน   ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรั๊มป์
          ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR)
          สภาผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติสหรัฐ(NPPC)
ผ่าน    ท่านเอกอัครราชทูต กลิน ที. เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

          เนื่องจากกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรไทย ได้ติดตามความพยายามแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าของสหรัฐอเมริกา และความพยายามช่วยเหลือการค้าเนื้อสุกรของเกษตรกรสหรัฐ โดยการเจรจากดดันรัฐบาลไทยให้เปิดตลาดเนื้อสุกรผ่านที่ประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา (TIFA JC) มาเป็นระยะหลายปี

          ข้าพเจ้าขอแนะนำให้รู้จักกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรไทยที่มีผลผลิตสุกรท่วมท้นเกินกว่าความต้องการการบริโภคภายในประเทศประมาณกว่าร้อยละ 5 ในแต่ละปี และไม่ปรากฏว่าขาดแคลนผลิตภัณฑ์จากสุกรแต่ประการใดในทุกๆ ปี หลายสิบปีที่ผ่านมาผู้เลี้ยงสุกรไทยและภาครัฐร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมสุกรเพื่อการเป็นอุตสาหกรรมเลี้ยงชีพของพลเมืองไทย โดยดำเนินการพัฒนาสายพันธุ์ อาหารสัตว์ การจัดการสุขภาพสัตว์ เพื่อเกษตรกรของประเทศและอาหารปลอดภัยของประชากรไทย

          อุตสาหกรรมปศุสัตว์ทั่วโลกเป็นเสาหลักของการบูรณาการการเกษตรเพื่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์และอาหารมนุษย์โดยเป็นห่วงโซ่อุปทานของทั้งต้นน้ำและปลายน้ำตามลำดับ เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมสุกรและเนื้อสุกรของสหรัฐและการส่งออกที่สร้างมูลค่าเพิ่มต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น เกษตรกรรมพืชอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ บริษัทเวชภัณฑ์สัตว์ และเป็นการสร้างผลบวกต่อดุลการค้าของประเทศ ซึ่งห่วงโซ่อุปทานการเลี้ยงสุกรของไทยก็เป็นไปในลักษณะเดียวกับอุตสาหกรรมสุกรของโลก

          บริษัทข้ามชาติสัญชาติอเมริกันจำนวนมากเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยและได้รับการต้อนรับและสนับสนุนด้วยดีจากคนไทยซึ่งกว่าร้อยละ 25 เป็นประชากรจากภาคเกษตรกรรมที่รวมไปถึงประชากรที่อยู่ในภาคปศุสัตว์ เช่น อุตสาหกรรมสุกร ไก่เนื้อ และไก่ไข่ ฯลฯ

          ถ้ารัฐบาลสหรัฐยังคงกดดันรัฐบาลไทยให้เปิดตลาดผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรจากสหรัฐ แน่นอนว่าเป็นผลดีต่อสภาผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติของสหรัฐและผู้เลี้ยงสุกรสหรัฐ ซึ่งมันจะเป็นภัยพิบัติต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรไทยและกระทบต่อเนื่องไปถึงเกษตรกรพืชอาหารสัตว์อื่นๆ ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นช่องทางทำมาหากินของคนไทย จากการเสียเปรียบในด้านการแข่งขัน กับ สหรัฐที่เป็นผู้ส่งออกเนื้อสุกรรายใหญ่ที่สุดของโลก

          การแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าจำเป็นที่จะต้องขยายการส่งออกแต่ไม่ใช่กระทำการในลักษณะทำลายล้างมนุษยชาติด้วยกัน เพราะว่าการเกษตรเป็นการเลี้ยงชีพพื้นฐานของมนุษยชาติ ฝากให้ท่านพิจารณาด้วยว่ามนุษยธรรมมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความเข้าใจระหว่างประเทศ

          ผู้เลี้ยงสุกรไทยขอแนะนำสหรัฐว่าควรหยุดเจรจากดดันรัฐบาลไทยให้เปิดตลาดเนื้อสุกรส่งออกมายังประเทศไทยที่มีผลผลิตมากอย่างท่วมท้นเกินกว่าความต้องการการบริโภคภายในประเทศ ในขณะที่มีการคัดค้านต่อเนื่องจากผู้เลี้ยงสุกรไทย ผู้เลี้ยงสุกรไทยใคร่ขอให้ตระหนักบนพื้นฐานของมิตรภาพระหว่างพลเมืองสหรัฐอเมริกากับพลเมืองของไทย

 

ข้อมูลจาก : สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งประเทศไทย