ข่าวแวดวงปศุสัตว์

วันที่ 4 เม.ย.65 นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานภาครัฐระบบราชการ 4.0 ที่มุ่งอำนวยความสะดวกและยกระดับคุณภาพให้บริการแก่ประชาชน พัฒนาระบบให้บริการอย่างต่อเนื่อง นำเทคโนโลยีสมัยใหม่และนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานให้มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น โดยยึดผู้ใช้บริการหรือประชาชนเป็นศูนย์กลาง สามารถให้บริการเสร็จสิ้นเบ็ดเสร็จในจุดเดียว ประชาชนสามารถใช้บริการได้ตลอดเวลาและผ่านการติดต่อได้หลายช่องทางผสมผสาน ไม่ว่าจะมาติดต่อด้วยตนเอง อินเตอร์เน็ต เว็ปไซต์ โซเชียลมีเดีย หรือแอปพลิเคชั่นต่างๆ ล่าสุดได้ยกระดับการให้บริการเปิดรับคำขอและออกใบรับรองสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มเลี้ยงสัตว์แบบดิจิทัล เบ็ดเสร็จออนไลน์ผ่านระบบ Biz Portal จบเพียง 5 ขั้นตอน สามารถให้บริการตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป

การยื่นขอรับใบรับรองสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มเลี้ยงสัตว์แบบดิจิทัล ผ่านระบบการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จทางอิเล็กทรอนิกส์ (Biz Portal) สามารถให้บริการทั้งการขอรับใบรับรอง/ต่ออายุใบรับรอง/ใบแทนใบรับรองสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เพียงใน 5 ขั้นตอน ดังนี้

 

ขั้นตอนที่ 1 ลงชื่อเพื่อเข้าสู่ระบบที่เว็ปไซต์ Bizportal.go.th โดยเลือกเข้าระบบด้วยบัญชีประชาชน สำหรับท่านใดที่ยังไม่มี Digital ID ให้ทำการสมัครเพื่อรับ Digital ID ก่อน เพื่อสามารถเข้าสู่ระบบ

ขั้นตอนที่ 2 เลือกหัวข้อ การขออนุญาตออนไลน์ คลิกที่หัวข้อการขออนุญาต/งานบริการใหม่ และเลือกหัวข้อการขอใบรับรองสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มเลี้ยงสัตว์ หรือการขอใบแทนใบรับรองฯ หรือผู้ขอต่ออายุใบรับรองฯ

ขั้นตอนที่ 3 ทำการกรอกแบบฟอร์มและอัปโหลดเอกสารแนบเพื่อยื่นคำขอ

ขั้นตอนที่ 4 ทำการติดตามสถานะ/รับทราบผลการตรวจสอบเอกสาร โดยสามารถเลือกการรับแจ้งได้ทางอีเมล์และ กล่องข้อความทางโทรศัพท์ SMS

ขั้นตอนที่ 5 การรับใบรับรองฯ อิเล็กทรอนิกส์ ผ่านทาง Bizportal.go.th

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นับว่าเป็นการยกระดับการให้บริการที่สะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ตอบสนองความต้องการประชาชนสามารถใช้บริการได้ทุกเวลาและทุกสถานที่ ปัจจุบันให้บริการครอบคลุมในฟาร์มสัตว์เลี้ยงที่ได้มาตรฐาน GAP 16 ประเภท ได้แก่ สุกร โคเนื้อ โคนม แพะเนื้อ แพะนม แกะเนื้อ ไก่พันธุ์ ไก่เนื้อ ไก่ไข่ ไก่พื้นเมืองแบบเลี้ยงปล่อย เป็ดพันธุ์ เป็ดเนื้อ เป็ดไข่ ห่าน (ทุกสายพันธุ์) นกกระทา (ทุกสายพันธุ์) และผึ้ง (ทุกสายพันธุ์) รวม 23,246 แห่งทั่วประเทศ และมีสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มเลี้ยงสัตว์ทั้งหมดจำนวน 7,594 รายโดยใบรับรองฯ ยังไม่หมดอายุ 2,594 ราย

ทั้งนี้ สามารถดูข้อมูลและวิธีการยื่นขอใบรับรองผ่านระบบฯ เพิ่มเติมได้ที่ http://certify.dld.go.th/certify/index.php/th/2016-05-01-14-47-42/2017-1... หรือโทร 02-653-4444 ต่อ 3155, 3134

ข้อมูล : สยามรัฐ, กรมปศุสัตว์

สมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ขอแสดงความยินดีกับ "คุณชยานนท์ กฤตยาเชวง"
ที่ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติประกาศให้เป็น "ผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาการเกษตร"
เนื่องในโอกาสวันสถาปานาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ ครบรอบ ๓๖ ปี
 
เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๕ 
 
 

กรมปศุสัตว์ เตือนภัยเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ หรือเจ้าของสัตว์ ให้ระวังโรคระบาดที่เกิดจากแมลงพาหะนำโรค ได้แก่ ยุง ริ้น เหลือบ แมลงวันคอก เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน ประกอบกับมีสภาพอากาศที่แปรปรวน เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกรรโชกแรง และมีลูกเห็บตกในบางพื้นที่ อาจส่งผลทำให้สัตว์เกิดความเครียด อ่อนแอ และมีโอกาสติดเชื้อต่างๆ ได้ง่าย อีกทั้งลักษณะภูมิอากาศดังกล่าว ยังมีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของแมลงพาหะนำโรค จึงมีโอกาสที่จะพบการระบาดของโรคที่มาจากแมลงพาหะเพิ่มขึ้น และเกิดการแพร่กระจายของโรคไปในวงกว้างได้ โดยโรคที่มักจะเกิด ได้แก่ โรคลัมปี สกิน ในโค-กระบือ โรคกาฬ โรคแอฟริกา และโรคโลหิตจาง ในม้า รวมถึงโรคพยาธิในเลือดต่างๆ เช่น โรคเซอร่า โรคแอนาพลาสมา โรคไข้เห็บ เป็นต้น ซึ่งอาจสร้างความเสียหายให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์หรือเจ้าของสัตว์อย่างมากได้

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค และป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่ผู้เลี้ยงสัตว์ กรมปศุสัตว์จึงขอความร่วมมือเกษตรกรหรือเจ้าของสัตว์ในการดำเนินการป้องกัน ควบคุม กำจัดหรือลดปริมาณแมลงพาหะนำโรค โดยการใช้สารกำจัดแมลงพาหะด้วยวิธีการฉีดพ่นบริเวณคอก หรือสถานที่พักอาศัยของสัตว์ ร่วมกับการใช้ยาฉีดพ่น หรือราดหลัง หรือหยดบนตัวสัตว์ อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการปรับภูมิทัศน์บริเวณสถานที่เลี้ยงสัตว์หรือแหล่งรวมสัตว์ ไม่ให้มีแหล่งน้ำขัง หรือแหล่งเพาะพันธุ์แมลง ทำความสะอาดฆ่าเชื้อคอกสัตว์อย่างสม่ำเสมอ ไม่ให้มีอุจจาระ ปัสสาวะ หมักหมม ควรเก็บอุจจาระไว้ในสถานที่ป้องกันแมลง และนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี รวมทั้งเฝ้าระวัง และสังเกตอาการของสัตว์ทุกวัน ซึ่งหากพบสัตว์ป่วยตายผิดปกติ หรือแสดงอาการป่วย เช่น ม้า ลา ล่อ แสดงอาการ ซึม มีไข้ (อุณหภูมิมากกว่า 38.5 องศาเซลเซียส) กินอาหารลดลง มีอาการบวมน้ำบริเวณขมับหรือคอ ตาแดงอักเสบ ชัก หรือกระวนกระวายคล้ายอาการเสียดท้อง ส่วนในโค-กระบือ หากพบสัตว์แสดงอาการซึม มีไข้ (อุณหภูมิมากกว่า 39.5 องศาเซลเซียส) ไม่กินอาหาร มีตุ่มนูนตามผิวหนัง หายใจลำบาก ให้เกษตรกร หรือเจ้าของสัตว์ แจ้งเจ้าหน้ากรมปศุสัตว์ ได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอหรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดในพื้นที่ หากไม่สะดวกสามารถโทรแจ้งมายังสายด่วนกรมปศุสัตว์ 06-3225-6888 หรือแจ้งผ่าน Application DLD 4.0 ได้ตลอดเวลา เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้เข้าทำการตรวจสอบ ให้การช่วยเหลือและควบคุมโรคโดยทันที และหากพบสัตว์ป่วยที่แสดงอาการสงสัยด้วยโรคระบาดข้างต้น ห้ามทำการเคลื่อนย้ายสัตว์ออกจากฟาร์มโดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไปยังท้องที่อื่นๆ นอกจากนี้ ควรจะเข้มงวดเกี่ยวกับการห้ามยานพาหนะ โดยเฉพาะรถรับซื้อสัตว์ รถอาหารสัตว์ รถรับซื้อมูลสัตว์ เข้าภายในฟาร์มโดยเด็ดขาด หากจำเป็น ต้องทำการฆ่าเชื้อยานพาหนะจากภายนอกทุกคันที่เข้า-ออกฟาร์มหรือสถานที่เลี้ยงสัตว์ รวมถึงควบคุมแมลงพาหะด้วยสารกำจัดแมลงที่อาจมากับยานพาหนะดังกล่าวด้วย และงดการนำสัตว์เข้ามาเลี้ยงใหม่ จากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ซึ่งสามารถตรวจสอบข้อมูลสถานการณ์ของโรคเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด หรือสำนักงานปศุสัตว์อำเภอในพื้นที่ ทั้งนี้ หากกรณีเกษตรกรนำสัตว์เข้ามาเลี้ยงใหม่ ควรมีการกักแยกสัตว์ออกจากฝูงเพื่อสังเกตอาการอย่างน้อย 28 วัน พร้อมทั้งกางมุ้งกันแมลง หรือใช้สารกำจัดแมลงเพื่อควบคุมแมลงพาหะอย่างเหมาะสมทั้งนี้ ขอเน้นย้ำให้เกษตรกรหรือเจ้าของสัตว์ ดูแลสัตว์ของตนเอง โดยการให้น้ำและอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพให้พอเพียงกับสัตว์ เพื่อให้สัตว์มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง มีภูมิคุ้มกันต่อโรคต่างๆ ที่ดี รวมทั้งหมั่นสังเกตอาการของสัตว์อย่างสม่ำเสมอ ป้องกันสัตว์ของตนเองไม่ให้สัมผัสกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่จะนำโรคเข้าฟาร์ม ได้แก่ คน ยานพาหนะต่างๆ สัตว์ที่นำเข้ามาเลี้ยงใหม่ เป็นต้น และปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในการป้องกันและควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด

ข้อมูล : มติชน

 

กรมปศุสัตว์ร่วมกับผู้ประกอบการอาหารสัตว์ เตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์การขาดแคลนและราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น พร้อมทั้งสรุปแนวทางแก้ปัญหา

พุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2565 เวลา 10.00 น.นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ พร้อมด้วยนายโสภัชย์ ชวาลกุล

รองอธิบดีกรมปศุสัตว์และเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่กรมประมง ร่วมกับ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย และสมาคมส่งเสริมผู้ใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ ได้ประชุมผ่านระบบออนไลน์ เพื่อหารือถึงผลกระทบและแนวทางแก้ไขเพื่อบริหารจัดการวัตถุดิบอาหารสัตว์ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ขาดแคลนและมีราคาสูงขึ้น

โดยทางสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยแจ้งว่า โรงงานอาหารสัตว์ได้รับผลกระทบด้านต้นทุนจากราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 ตลอดจนกระทั่งปัจจุบัน คิดเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น 25-30% ปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ประกอบด้วยกัน 2 ส่วน ได้แก่ 1.สถานการณ์ราคาวัตถุดิบในตลาดโลก รวมถึงค่าบริหารจัดการและการขนส่ง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ 2.นโยบายภาครัฐที่ต้องการดูแลราคาพืชอาหารสัตว์ในประเทศ เช่น มาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลีโดยจะต้องรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศ 3 ส่วนก่อนนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน  การจำกัดช่วงเวลานำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงมาตรการด้านภาษี อาทิ ภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2% รวมถึงที่ผ่านมาประเทศสหรัฐอเมริกาและอาร์เจนตินา ซึ่งเป็นแหล่งผลิตถั่วเหลืองที่สำคัญของโลกประสบภาวะภัยแล้งส่งผลให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง ประกอบกับสถานการณ์ปัจจุบันมีความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครน ซึ่งทั้งสองประเทศเป็นแหล่งส่งออกวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สำคัญต่อประเทศไทยรวมถึงทั่วโลก โดยเฉพาะข้าวสาลีสำหรับเลี้ยงสัตว์ ทำให้การส่งออกวัตถุดิบอาหารสัตว์หยุดชะงักไป เกิดการขาดแคลนวัตถุดิบอาหารสัตว์และทำให้มีราคาสูงขึ้น

อธิบดีกรมปศุสัตว์ได้มีความเห็นและมีข้อกังวลเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งอาจมีผลมาจากภาวะสถานการณ์ COVID-19 ที่แพร่ระบาดทั่วโลกและภาวะความขัดแย้งระหว่างประเทศต่าง ๆ รวมไปถึงสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน(Climate change) จึงจำเป็นต้องมีแนวทางที่รองรับสถานการณ์ดังกล่าวโดยเฉพาะวัตถุดิบอาหารสัตว์ซึ่งนำมาใช้เป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตภาคปศุสัตว์  ดังนั้นต้องมีมาตรการในการหาแหล่งวัตถุดิบทดแทนซึ่งมีแหล่งที่มาจากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

โดยในที่ประชุมมีข้อสรุปถึงแนวทางมีในการแก้ปัญหา ดังนี้

  1. ระยะสั้น

1.1 ยกเลิกมาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลี 3:1 ส่วน เพื่อเปิดโอกาสให้มีการนำเข้าข้าวสาลีได้โดยเสรี

จากหลายแหล่งทั่วโลก ส่งผลให้ราคาการซื้อขายเป็นไปตามกลไกตลาดโลก

1.2 ยกเลิกภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2% เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการผลิตเนื่องจากกากถั่วเหลืองเป็นแหล่งโปรตีนที่ใช้เป็นวัตถุดิบสัตว์ในการผลิตอาหารสัตว์

 1.3 เปิดให้นำเข้าข้าวโพดภายใต้กรอบ WTO, AFTA ยกเลิกโควต้า ภาษีและค่าธรรมเนียม ในปริมาณที่ขาดแคลนในปี 2565 เพื่อขยายโอกาสในการเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบทำให้สามารถนำมาใช้ได้อย่างเพียงพอตลอดปี และลดต้นทุนในการผลิตอาหารสัตว์

  1. ระยะยาว

 2.1 การส่งเสริมการปลูกข้าวโพดภายในประเทศให้มากขึ้น โดยเฉพาะการปลูกภายหลังการเก็บเกี่ยวข้าว (ข้าวโพดหลังนา)

2.2 พัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ ตลอดจนเทคโนโลยีการผลิตพืชอาหารสัตว์ โดยเฉพาะข้าวโพดให้สามารถมีผลผลิตต่อไร่เพิ่มสูงขึ้น

2.3 การส่งเสริมการปลูกและใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดพร้อม (Green Deal)

 

ข้อมูล : กรุงเทพธุรกิจ

 

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ พร้อมด้วยนายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ และเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่กรมประมง ร่วมกับสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย และสมาคมส่งเสริมผู้ใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ ได้ประชุมผ่านระบบออนไลน์ หารือถึงผลกระทบและแนวทางแก้ไข เพื่อบริหารจัดการวัตถุดิบอาหารสัตว์ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ขาดแคลนและมีราคาสูงขึ้น

โดยสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย แจ้งว่า โรงงานอาหารสัตว์ได้รับผลกระทบด้านต้นทุน จากราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3/63 ตลอดจนกระทั่งปัจจุบัน คิดเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น 25-30% ปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ประกอบด้วยกัน 2 ส่วน ได้แก่

  1. สถานการณ์ราคาวัตถุดิบในตลาดโลก รวมถึงค่าบริหารจัดการและการขนส่ง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้
  2. นโยบายภาครัฐที่ต้องการดูแลราคาพืชอาหารสัตว์ในประเทศ เช่น มาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลี โดยจะต้องรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศ 3 ส่วน ก่อนนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน การจำกัดช่วงเวลานำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงมาตรการด้านภาษี อาทิ ภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2% รวมถึงที่ผ่านมาประเทศสหรัฐอเมริกาและอาร์เจนตินา ซึ่งเป็นแหล่งผลิตถั่วเหลืองที่สำคัญของโลกประสบภาวะภัยแล้ง ส่งผลให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง ประกอบกับสถานการณ์ปัจจุบันมีความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครน ซึ่งทั้งสองประเทศเป็นแหล่งส่งออกวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สำคัญต่อประเทศไทยรวมถึงทั่วโลก โดยเฉพาะข้าวสาลีสำหรับเลี้ยงสัตว์ ทำให้การส่งออกวัตถุดิบอาหารสัตว์หยุดชะงักไป เกิดการขาดแคลนวัตถุดิบอาหารสัตว์และทำให้มีราคาสูงขึ้น

อธิบดีกรมปศุสัตว์ มีกล่าวว่า ความมั่นคงทางอาหาร อาจมีผลมาจากภาวะสถานการณ์โควิด-19 ที่แพร่ระบาดทั่วโลก และภาวะความขัดแย้งระหว่างประเทศต่างๆ รวมไปถึงสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน (Climate change) จึงจำเป็นต้องมีแนวทางที่รองรับสถานการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะวัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งนำมาใช้เป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตภาคปศุสัตว์ ดังนั้น ต้องมีมาตรการในการหาแหล่งวัตถุดิบทดแทน ซึ่งมีแหล่งที่มาจากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยในที่ประชุมมีข้อสรุปถึงแนวทางมีในการแก้ปัญหา ดังนี้

1. ระยะสั้น

  • ยกเลิกมาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลี 3:1 ส่วน เพื่อเปิดโอกาสให้มีการนำเข้าข้าวสาลีได้โดยเสรี จากหลายแหล่งทั่วโลก ส่งผลให้ราคาการซื้อขายเป็นไปตามกลไกตลาดโลก
  • ยกเลิกภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2% เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการผลิต เนื่องจากกากถั่วเหลืองเป็นแหล่งโปรตีนที่ใช้เป็นวัตถุดิบสัตว์ในการผลิตอาหารสัตว์
  • เปิดให้นำเข้าข้าวโพดภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก (WTO) และเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ยกเลิกโควต้าภาษีและค่าธรรมเนียม ในปริมาณที่ขาดแคลนในปี 65 เพื่อขยายโอกาสในการเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบ ทำให้สามารถนำมาใช้ได้อย่างเพียงพอตลอดปี และลดต้นทุนในการผลิตอาหารสัตว์

2. ระยะยาว

  • การส่งเสริมการปลูกข้าวโพดภายในประเทศให้มากขึ้น โดยเฉพาะการปลูกภายหลังการเก็บเกี่ยวข้าว (ข้าวโพดหลังนา)
  • พัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ ตลอดจนเทคโนโลยีการผลิตพืชอาหารสัตว์ โดยเฉพาะข้าวโพดให้สามารถมีผลผลิตต่อไร่เพิ่มสูงขึ้น
  • การส่งเสริมการปลูกและใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดพร้อม (Green Deal)

“นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ได้พัฒนาสูตรอาหารสัตว์ที่มีวัตถุดิบทางเลือก สำหรับเกษตรกรเพื่อใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ โดยสามารถศึกษาข้อมูลได้จากเว็บไซต์ https://nutrition.dld.go.th

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว

ข้อมูล : สำนักข่าวอินโฟเควสท์

‘ปศุสัตว์’ ขอผู้เลี้ยงสัตว์ทุกคนเลี้ยง รัก รับผิดชอบ พาสัตว์เลี้ยงฉีดวัคซีนกันพิษสุนัขบ้า

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ตามพระปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ที่มุ่งให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปลอดจากโรคพิษสุนัขบ้า ไม่มีผู้เสียชีวิตและสัตว์จากโรคพิษสุนัขบ้า กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการร่วมมือในการควบคุม ป้องกันและกำจัดโรคพิษสุนัขบ้ากับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อย่างเข้มงวดต่อเนื่อง เนื่องจากโรคพิษสุนัขบ้าอันตรายติดต่อได้ทั้งสัตว์และคน เป็นแล้วไม่มีทางรักษา ทางที่ดีที่สุดคือการควบคุมและป้องกันการเกิดโรคเท่านั้น จึงขอความร่วมมือผู้เลี้ยงสัตว์ทุกคนเลี้ยงสัตว์อย่างรับผิดชอบ รักไม่ทอดทิ้ง และพาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) เกิดจากเชื้อไวรัส เป็นโรคอันตรายติดต่อได้ในคนและสัตว์ ถึงแม้จะใช้ชื่อว่าโรคพิษสุนัขบ้า แต่สามารถติดได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น สุนัข แมว โค กระบือ หนู กระรอก กระต่าย ลิง ค้างคาว เป็นต้น ในประเทศไทย สัตว์ที่พบว่ามีการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าสูงสุด คือ สุนัข โดยในปี พ.ศ.2564 ข้อมูลจากระบบฐานข้อมูล Thai Rabies Net พบว่า สุนัขพบผลบวกต่อโรคพิษสุนัขบ้าสูงถึง ร้อยละ 86 จากจำนวนสัตว์ที่พบผลบวกทั้งหมด โรคนี้ติดต่อได้จากการสัมผัสกับน้ำลายจากการถูกกัด ข่วน หรือเลียบริเวณที่มีบาดแผล รอยถลอก รอยขีดข่วน หรือถูกเลียบริเวณเยื่อบุตา หรือปาก นอกจากนี้ การชำแหละซากสัตว์หรือรับประทานผลิตภัณฑ์ดิบจากสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าก็สามารถติดโรคได้ ซึ่งอาการของโรคที่พบในสัตว์ มี 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเริ่มแรก มีอาการประมาณ 2-3 วัน โดยสุนัขจะมีอารมณ์ และอุปนิสัยเปลี่ยนไปจากเดิม เริ่มมีไข้เล็กน้อย ม่านตาขยายกว้างกว่าปกติ กินข้าว กินน้ำ ลดลง ระยะที่ 2 เป็นระยะตื่นเต้น จะเริ่มมีอาการทางระบบประสาท สุนัขจะกระวนกระวาย ตื่นเต้น ไม่อยู่นิ่ง กัดแทะสิ่งของ สิ่งแปลกปลอม กัดทุกสิ่งไม่เลือก โดยไม่แสดงอาการเจ็บปวด เสียงเห่าหอนเปลี่ยนไป ตัวแข็ง บางตัวล้มชัก และระยะสุดท้าย เป็นระยะอัมพาต สุนัขจะมีคางห้อยตก ลิ้นมีสีแดงคล้ำห้อยออกนอกปาก น้ำลายไหล และไม่สามารถใช้ลิ้นได้ สุนัขบางตัวอาจแสดงอาการขยอกหรือขย้อน คล้ายมีของติดลำคอ ทรงตัวไม่ได้ เริ่มเป็นอัมพาต โดยอาการอัมพาตจะเริ่มจากขาหลัง และตายในที่สุด ซึ่งโดยส่วนใหญ่สัตว์จะตาย ภายใน 10 วันหลังแสดงอาการ นอกจากนี้ พรบ.โรคพิษสุนัขบ้า ยังได้ระบุถึงอาการของโรคพิษสุนัขบ้า ไว้ว่าอาจแสดงอาการได้ทั้งดุร้ายหรือเซื่องซึม

เนื่องจากโรคนี้ ถ้าเป็นโรคที่ติดแล้วไม่มีทางรักษา ทางที่ดีที่สุดคือ การควบคุมและป้องกันการเกิดโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งตาม พรบ.โรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 ได้กำหนดให้เจ้าของสัตว์ต้องจัดการให้สัตว์เลี้ยงทุกตัว ได้แก่ สุนัข และแมว ได้รับการฉีดวัคซีนจากสัตวแพทย์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์หรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ ตามกำหนดเวลา โดยให้เริ่มฉีดเข็มแรกที่อายุตั้งแต่ 2 – 4 เดือน จากนั้นกระตุ้นเข็มที่ 2 หลังจากเข็มแรก 1 เดือน และกระตุ้นซ้ำเป็นประจำทุกๆ ปี (ตามกำหนดปีละ 1 ครั้ง) สำหรับสัตว์กลุ่มอื่นๆ เช่น โค กระบือ สุกร ตามระยะเวลาที่กำหนดในกฎกระทรวงและควรเน้นในการป้องกันการเข้าออกของสัตว์อื่น โดยเฉพาะสุนัข ไปยังคอกเลี้ยงสัตว์นั้นๆ แต่ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าสัตว์ได้รับการฉีควัคซีนแล้ว หากถูกสัตว์สงสัยหรือสัตว์ป่วยด้วยโรคพิษสุนัขบ้ากัดหรือข่วน ก็ควรได้รับการฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าโดยเร็วที่สุดหลังถูกกัด ตามโปรแกรมที่เหมาะสมต่อไปด้วย และสิ่งที่สำคัญที่สุดในการควบคุมและป้องกันโรคนี้คือ เจ้าของควรเลี้ยงสัตว์อย่างรับผิดชอบ ไม่ปล่อยวิ่งในที่สาธารณะ โดยขาดผู้ดูแล และไม่นำสัตว์เลี้ยงไปปล่อยทิ้งให้เป็นปัญหาต่อสังคมในอนาคต และควรระมัดระวังตนเอง โดยการไม่ไปแหย่ แย่ง หยิบ ยุ่งกับสัตว์จรจัด หรือสัตว์ที่ไม่ทราบประวัติวัคซีนแน่ชัด อันจะเป็นความเสี่ยงให้ได้รับโรคพิษสุนัขบ้า หรือหากถูกสุนัขหรือแมวที่สงสัยโรคพิษสุนัขบ้ากัด หรือข่วน ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่ให้สะอาด ใส่ยาแผล หากเป็นไปได้จับสัตว์สงสัยกักขังไว้ และรีบพบแพทย์ เพื่อรับวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโดยเร็วที่สุด พร้อมทั้งแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่เพื่อทราบและเร่งดำเนินการตรวจสอบในพื้นที่ภายใน 12 ชั่วโมง

 

อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับประเทศไทยรายงานสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 7 มีนาคม 2565 พบรายงานสัตว์ตรวจพบให้ผลบวกต่อโรคพิษสุนัขบ้าสะสม จำนวน 42 ตัว เฉลี่ยพบผลบวกต่อโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์รายวันเฉลี่ยอยู่ที่ 0.6 ตัว/วัน ส่วนใหญ่เป็นการพบโรคในสุนัข อยู่ที่ร้อยละ 98 ของสัตว์ที่พบผลบวกทั้งหมด และส่วนใหญ่เป็นสุนัขที่ไม่มีและไม่ทราบประวัติการมีเจ้าของ อยู่ที่ร้อยละ 89 ของสุนัขที่พบผลบวกทั้งหมด จังหวัดที่พบการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าสูงสุด คือจังหวัดชลบุรี 29 ตัวอย่าง รองลงมาคือ จังหวัดสมุทรปราการ 3 ตัวอย่าง ซึ่งปัจจุบันพบมีรายงานผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าในปี พ.ศ.2565 แล้ว 1 ราย ในพื้นที่อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี โดยพื้นที่ที่พบการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย ในช่วงระยะ 1 เดือนย้อนหลัง และยังอยู่ในระยะของการเฝ้าระวังโรค ได้แก่ ชลบุรี สงขลา สมุทรปราการ อุบลราชธานี และนครสวรรค์ ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการข้อมูลหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่เว็บไซต์ สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ และสามารถติดตามสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าได้ที่ www.thairabies.net

 

ข้อมูล : มติชน

น.สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า จากรายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ก.พ. 65 พบรายงานการระบาดของโรค “ไข้หวัดนก” สายพันธุ์ชนิดความรุนแรงสูง (HPAI) ชนิด H5N1, H5N6, H5N2, H5N5 และ H5N8 มากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก ทั้งในทวีปยุโรป อเมริกา แอฟริกา รวมทั้งในเอเชีย อาทิ ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียดนาม อีกทั้งองค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานพบการติดเชื้อไข้หวัดนกในคนชนิด H5N6 ในสาธารณรัฐประชาชนจีน และมีผู้เสียชีวิต

ดังนั้น กรมฯ ในฐานะหน่วยงานหลัก ไม่ได้นิ่งนอนใจ ยังคงเตรียมความพร้อมในการป้องกันโรคไข้หวัดนก เข้าสู่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดกรมฯ ได้เน้นย้ำมาตรการป้องกันโรคไข้หวัดนกแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน พร้อมทั้งให้คำแนะนำวิธีการป้องกันโรคไข้หวัดนกแก่เกษตรกร ตั้งแต่การปรับระบบการเลี้ยง โดยเน้นระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ เช่น ป้องกันนกธรรมชาติเข้าเล้า/โรงเรือน ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคบริเวณสัตว์อาศัยอยู่เป็นประจำ หาแหล่งน้ำบริโภคให้สะอาด ไม่ให้บุคคลภายนอกเข้า-ออกฟาร์ม ในกรณีที่จะนำสัตว์ปีกเข้าร่วมฝูง จะต้องมีการกักกันไว้ในบริเวณอื่นก่อน อย่างน้อย 7 วัน เป็นต้น

อย่างไรก็ดี กรมฯ ขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีก สังเกตอาการสัตว์อย่างใกล้ชิด หากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ อย่านำสัตว์ปีกไปจำหน่ายจ่ายแจก หรือนำไปประกอบอาหารโดยเด็ดขาด ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ อาสาปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้านทันที เพื่อเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ และดำเนินมาตรการ ควบคุมโรคทันที

 

ข้อมูล : สำนักข่าวอินโฟเควสท์

 

 
ประกาศจากทางกรมปศุสัตว์
 
เรื่อง ปศุสัตว์ย้ำ!! ไก่ไทยไร้สารตกค้าง ไร้ฮอร์โมน ผู้บริโภคมั่นใจทานได้ปกติ คู่ค้ามั่นใจส่งออกได้ต่อเนื่อง
เนื่อจากมีข่าวเผยแพร่ในโลกโซเชี่ยลเกี่ยวกับการบริโภคชิ้นส่วนไก่ ส่วนที่เป็น คอ หรือหัวไก่ และเนื้อไก่
โดยมีการกล่าวอ้างว่าในชิ้่นส่วนเหล่านี้พบสารตกค้างหากบริโภคเป็นเวลานานไปจะส่งผลกระทบต่อร่างกาย ซึ่งทางกรมปศุสัตว์ไม่ได้นิ่งนอนใจกับข่าวดังกล่าวจึงทำการตรวจสอบและออกประกาศเพื่อแสดงความมั่นใจให้กับผู้บริโภค และผู้ประกอบการ
 
 
 
ข้อมูล : ข่าวปศุสัตว์

 

"ประชุมกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพการสัตวบาล พ.ศ. ...."

วันพุธที่ 2 มีนาคม 2565 เวลา 09.30 น.

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ มอบหมายให้นายสุรเดช รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ และในฐานะที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพการสัตวบาล พ.ศ. ....

พร้อมด้วยนายแสนศักดิ์ นาคะวิสุทธิ์ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาวิชาการปศุสัตว์ และนายแสนศักดิ์ เหลืองเกื้อกูลชัย นิติกรชำนาญการ ร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพการสัตวบาล พ.ศ. ... โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานคณะกรรมาธิการ เป็นประธานการประชุม เพื่อตรวจเนื้อหาและรายละเอียดของร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพการสัตวบาล พ.ศ. .... ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพการสัตวบาล พ.ศ. .... วุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาแก้ไขร่วมกัน โดยเฉพาะนิยามคำว่า "สัตว์เลี้ยง" ที่กำหนดให้การควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวบาลต่อสัตว์เลี้ยง ไม่รวมถึงสัตว์ของผู้เลี้ยงหรือเกษตรกรรายย่อย และเมื่อผ่านการพิจารณาในครั้งนี้แล้ว ฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมาธิการร่วมฯ จะนำร่างพระราชบัญญัตินี้เสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบ และดำเนินการเสนอออกเป็นกฎหมายต่อไป ณ ห้องประชุม 607 ชั้น 6 อาคารรัฐสภา

 

 

กระทบเกษตรกรแล้ว!! เหตุการณ์รัสเซีย-ยูเครน ทำวัตถุดิบอาหารสัตว์พุ่งสูง วอนรัฐเร่งจัดการ และปล่อยให้ราคาไก่และไก่ไข่เป็นไปตามกลไกตลาด เช่นเดียวกับราคาหมูที่ลดลง หลังถูกตรึงราคาอยู่
 
นางฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนที่ได้พัฒนาความตึงเครียดไปจนถึงขีดสุดว่ากำลังมีผลอย่างยิ่งต่อราคาธัญพืช ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญของการผลิตอาหารสัตว์ เนื่องจากรัสเซียและยูเครนเป็นแหล่งเพาะปลูกสำคัญ ทั้งข้าวสาลี ข้าวโพด ซึ่งอาจไม่สามารถเก็บเกี่ยวหรือทำการส่งออกได้ตามปกติ รวมถึงภัยแล้งในบราซิลที่กระทบปริมาณผลผลิตถั่วเหลืองด้วย
 
โดยราคาข้าวสาลีนำเข้าซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการเลี้ยงไก่ ราคาปรับสูงขึ้นจาก 8-9 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อปี 2564 เพิ่มเป็น 12 บาทต่อกิโลกรัมในปัจจุบัน ขณะที่ข้าวโพดในประเทศไทยมีราคาปรับไปถึง 11.10 บาทต่อกิโลกรัม และกำลังส่งผลกระทบทางอ้อมต่อวัตถุดิบชนิดอื่นที่มีแนวโน้มราคาสูงตามไปด้วย ปัจจุบันวัตถุดิบอาหารสัตว์ส่วนใหญ่ราคาขึ้นมาสูงกว่า 50-60% แล้ว ยังไม่นับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่จะสูงขึ้นทำให้ต้นทุนค่าขนส่งปรับเพิ่มด้วย
“ต้นทุนการผลิตเนื้อไก่สูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ราคาเนื้อไก่และไข่ไก่กลับถูกตรึงอยู่ ไม่สะท้อนต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น หากวัตถุดิบทุกชนิดมีราคาสูงเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ เกษตรกรคนเลี้ยงสัตว์ไม่มีทางอยู่รอดได้ ทางที่ดี ถ้ารัฐไม่สามารถควบคุมราคาวัตถุดิบจากผลกระทบของสถานการณ์ยูเครน ก็ควรปล่อยให้ราคาไก่และไก่ไข่เป็นไปตามกลไกที่ควรจะเป็น เช่นเดียวกับราคาหมูที่ลดลงเพราะกลไกตลาดทำงานอย่างเสรี” นางฉวีวรรณกล่าว และว่าการยุติการตรึงราคาไก่และไข่ จะช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรมีกำลังใจในการเลี้ยงสัตว์ต่อไป
 
อนึ่ง รัสเซียและยูเครนมีปริมาณการส่งออกข้าวสาลีรวมกันประมาณ 29% ของปริมาณการส่งออกทั่วโลก ส่วนข้าวโพด 19% ของตลาดโลก โดยราคาต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์สำคัญมีราคาเพิ่มขึ้นไปแล้ว 40% จากปี 2564
 
ช้อมูล : Pasusart New

หมวดหมู่รอง

ผู้เลี้ยง 6 ภาคเตรียมยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรั๊มป์ ขอให้ระงับการกดดันรัฐบาลไทยให้เปิดตลาดเนื้อสุกรจากสหรัฐเพื่อรักษามิตรภาพที่ดีระหว่างพลเมืองของไทยและสหรัฐอเมริกา

 

 

ผู้เลี้ยง 6 ภาคเตรียมยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรั๊มป์ ขอให้ระงับการกดดันรัฐบาลไทยให้เปิดตลาดเนื้อสุกรจากสหรัฐเพื่อรักษามิตรภาพที่ดีระหว่างพลเมืองของไทยและสหรัฐอเมริกา

8 พฤษภาคม 2561 สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ - ผู้เลี้ยงสุกรทั่วไทย 6 ภาคเตรียมยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรั๊มป์ ขอให้ระงับการกดดันรัฐบาลไทยให้เปิดตลาดเนื้อสุกรจากสหรัฐเพื่อรักษามิตรภาพที่ดีระหว่างพลเมืองของไทยและสหรัฐอเมริกา เพราะปี 2561 ครบรอบการเปิดสัมพันธ์ทางการทูตครบ 200 ปี หลังเปิดความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

วันที่ 9 พฤษภาคม 2561 พิธีไหว้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั่วไทย โดยใช้หัวหมูรวมจำนวน 4,247 หัว จะเป็นหน้าหนึ่งแห่งประวัติศาสตร์ของวงการสุกรไทย ที่มีพัฒนาการการเลี้ยงสู่ระดับโลก แต่ยังมีเกษตรกรอีกจำนวนมากที่จะต้องช่วยกันนำพากันสู่อาชีพที่มั่นคง ยั่งยืน ให้เป็นมรดกการทำกินตกทอดต่อกันไปชั่วลูกชั่วหลาน นอกเหนือจากการสร้างอาหารปลอดภัยให้ประชากรของชาติ

ความพยายามเปิดตลาดเนื้อสุกรสู่ประเทศไทยที่มีมากอย่างยาวนานของสหรัฐอเมริกา โดยอาจมองข้ามความสัมพันธ์ที่ดีของทั้งสองประเทศ จนอาจกลายเป็นการสร้างปมบาดหมางกันระหว่างพลเมืองของสองประเทศ ที่มีบริษัทข้ามชาติของสหรัฐมาประกอบธุรกิจและได้รับการอุดหนุนด้วยดีเสมอมากับพลเมืองของไทย  

ในพิธีครั้งนี้นอกเหนือจากการไหว้สักการะและยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านผู้นำภูมิภาค พร้อมกันนี้จะมีการหนังสือถึง ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรั๊มป์           ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) สภาผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติสหรัฐ(NPPC) และท่านเอกอัครราชทูต กลิน ที. เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยด้วย  โดยเน้นให้มองลึกถึงมิตรภาพและการไม่เปิดตลาดโดยมองข้ามความสัมพันธ์ที่ดีของพลเมืองทั้งสองประเทศ

เนื้อหาให้จดหมายภาษาอังกฤษจะเป็นดังนี้ :

เรียน   ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรั๊มป์
          ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR)
          สภาผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติสหรัฐ(NPPC)
ผ่าน    ท่านเอกอัครราชทูต กลิน ที. เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

          เนื่องจากกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรไทย ได้ติดตามความพยายามแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าของสหรัฐอเมริกา และความพยายามช่วยเหลือการค้าเนื้อสุกรของเกษตรกรสหรัฐ โดยการเจรจากดดันรัฐบาลไทยให้เปิดตลาดเนื้อสุกรผ่านที่ประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา (TIFA JC) มาเป็นระยะหลายปี

          ข้าพเจ้าขอแนะนำให้รู้จักกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรไทยที่มีผลผลิตสุกรท่วมท้นเกินกว่าความต้องการการบริโภคภายในประเทศประมาณกว่าร้อยละ 5 ในแต่ละปี และไม่ปรากฏว่าขาดแคลนผลิตภัณฑ์จากสุกรแต่ประการใดในทุกๆ ปี หลายสิบปีที่ผ่านมาผู้เลี้ยงสุกรไทยและภาครัฐร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมสุกรเพื่อการเป็นอุตสาหกรรมเลี้ยงชีพของพลเมืองไทย โดยดำเนินการพัฒนาสายพันธุ์ อาหารสัตว์ การจัดการสุขภาพสัตว์ เพื่อเกษตรกรของประเทศและอาหารปลอดภัยของประชากรไทย

          อุตสาหกรรมปศุสัตว์ทั่วโลกเป็นเสาหลักของการบูรณาการการเกษตรเพื่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์และอาหารมนุษย์โดยเป็นห่วงโซ่อุปทานของทั้งต้นน้ำและปลายน้ำตามลำดับ เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมสุกรและเนื้อสุกรของสหรัฐและการส่งออกที่สร้างมูลค่าเพิ่มต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น เกษตรกรรมพืชอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ บริษัทเวชภัณฑ์สัตว์ และเป็นการสร้างผลบวกต่อดุลการค้าของประเทศ ซึ่งห่วงโซ่อุปทานการเลี้ยงสุกรของไทยก็เป็นไปในลักษณะเดียวกับอุตสาหกรรมสุกรของโลก

          บริษัทข้ามชาติสัญชาติอเมริกันจำนวนมากเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยและได้รับการต้อนรับและสนับสนุนด้วยดีจากคนไทยซึ่งกว่าร้อยละ 25 เป็นประชากรจากภาคเกษตรกรรมที่รวมไปถึงประชากรที่อยู่ในภาคปศุสัตว์ เช่น อุตสาหกรรมสุกร ไก่เนื้อ และไก่ไข่ ฯลฯ

          ถ้ารัฐบาลสหรัฐยังคงกดดันรัฐบาลไทยให้เปิดตลาดผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรจากสหรัฐ แน่นอนว่าเป็นผลดีต่อสภาผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติของสหรัฐและผู้เลี้ยงสุกรสหรัฐ ซึ่งมันจะเป็นภัยพิบัติต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรไทยและกระทบต่อเนื่องไปถึงเกษตรกรพืชอาหารสัตว์อื่นๆ ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นช่องทางทำมาหากินของคนไทย จากการเสียเปรียบในด้านการแข่งขัน กับ สหรัฐที่เป็นผู้ส่งออกเนื้อสุกรรายใหญ่ที่สุดของโลก

          การแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าจำเป็นที่จะต้องขยายการส่งออกแต่ไม่ใช่กระทำการในลักษณะทำลายล้างมนุษยชาติด้วยกัน เพราะว่าการเกษตรเป็นการเลี้ยงชีพพื้นฐานของมนุษยชาติ ฝากให้ท่านพิจารณาด้วยว่ามนุษยธรรมมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความเข้าใจระหว่างประเทศ

          ผู้เลี้ยงสุกรไทยขอแนะนำสหรัฐว่าควรหยุดเจรจากดดันรัฐบาลไทยให้เปิดตลาดเนื้อสุกรส่งออกมายังประเทศไทยที่มีผลผลิตมากอย่างท่วมท้นเกินกว่าความต้องการการบริโภคภายในประเทศ ในขณะที่มีการคัดค้านต่อเนื่องจากผู้เลี้ยงสุกรไทย ผู้เลี้ยงสุกรไทยใคร่ขอให้ตระหนักบนพื้นฐานของมิตรภาพระหว่างพลเมืองสหรัฐอเมริกากับพลเมืองของไทย

 

ข้อมูลจาก : สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งประเทศไทย