นายลักษณ์ วจนานวัช รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายมาตรการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever) ของประเทศไทยว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร มีการแพร่ระบาดขยายเป็นวงกว้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบันได้มีการระบาดใน 18 ประเทศ หลายภูมิภาคทั่วโลก สำหรับทวีปเอเชียพบการระบาดครั้งแรกที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ต่อมามีรายงานการระบาดที่ประเทศมองโกเลีย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งสถานการณ์การระบาดของโรคในแต่ละประเทศยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่เชื้อไวรัสโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเข้าสู่ประเทศมากยิ่งขึ้น เนื่องจากปัจจัยหลายประการ เช่น การเดินทางเพื่อการท่องเที่ยว การค้าขาย การขนส่งสินค้า ปัจจัยสิ่งแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ที่มีข้อจำกัดด้านชายแดนที่มีระยะทางยาว เป็นต้น รวมถึงความต้องการสุกรและผลิตภัณฑ์สูงขึ้น ส่งผลให้มีการลักลอบนำเข้าผลิตภัณฑ์สุกรโดยนักท่องเที่ยวตามแนวชายแดน

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

ภาพจาก : http://aqi.dld.go.th/webnew/index.php/en/service-menu/stat-report/19-news-cat/royal-cat/118-african-swinefever

 


     อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์ได้เข้มงวดจับกุมการลักลอบเคลื่อนย้ายสุกร ซากสุกร และผลิตภัณฑ์สุกรที่นักท่องเที่ยวนำมาบริโภคอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่มีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2561 จนถึงวันที่ 29 มีนาคม 2562 ได้มีการตรวจยึดการลักลอบเคลื่อนย้ายผลิตภัณฑ์จากสุกร 344 ครั้ง และผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีการปนเปื้อนสารพันธุกรรมเชื้อไวรัสโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร 59 ตัวอย่าง

     นายลักษณ์ กล่าวต่อว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในประเทศไทย โดยคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา แบ่งการดำเนินการเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1) ด้านโครงสร้างการบริหารจัดการและขับเคลื่อนมาตรการ โดยจัดให้มีคณะกรรมการอำนวยการป้องกัน ควบคุมและกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรแห่งชาติ ประกอบด้วย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคสหกรณ์ผู้เลี้ยงสัตว์ และภาคเอกชน และ 2) แผนการดำเนินงานและแผนใช้จ่ายงบประมาณในการดำเนินงาน โดยแผนการดำเนินงาน แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะก่อนเผชิญเหตุการระบาด ระยะเผชิญเหตุการระบาด และระยะภายหลังเผชิญเหตุการระบาด ซึ่งมีแผนใช้จ่ายงบประมาณในปี 2562 - 2554 ในการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 148,542,900 บาท

    นอกจากนี้ การดำเนินการตามแผนเตรียมความพร้อมดังกล่าว ยังแบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน โดยจะดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค และระยะยาว โดยจะยกระดับมาตรการการควบคุมป้องกันโรคให้มีมาตรฐานสากล โดยจัดสร้างโรงทำลายซากสัตว์ติดเชื้อ เนื่องจากเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกรมีความคงทนในสภาพแวดล้อมสูง อีกทั้งหากทำลายโดยการฝังจะต้องใช้พื้นที่จำนวนมากและการดำเนินการทำลายเป็นไปด้วยความยากลำบาก มีโอกาสที่เชื้อจะตกค้างและแพร่กระจายในสิ่งแวดล้อม หรือหากทำลายโดยวิธีการเผาจะก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม จึงจำเป็นต้องมีวิธีการกำจัดซากที่ติดเชื้ออย่างเหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว อีกทั้งหากกรณีไม่มีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ยังสามารถใช้ในการกำจัดซากสัตว์ติดเชื้อของโรคระบาดอื่น ๆ ได้อีกด้วย จึงถือเป็นมาตรการควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพได้อย่างยั่งยืน

"ขอยืนยันว่า ยังไม่มีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าโรคดังกล่าวจะไม่ติดต่อสู่คน แต่โรคนี้มีความรุนแรงที่จะก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ กระทรวงเกษตรฯ จึงได้มีการประกาศเขตเฝ้าระวังในพื้นที่เขตจังหวัดชายแดนทั้งหมด 16 จังหวัดทั่วประเทศ และแผนการดำเนินการป้องกันโรคดังกล่าว ยังได้นำสู่คณะรัฐมนตรีเพื่อเป็นวาระแห่งชาติ กระทรวงเกษตรฯ จึงเชื่อมั่นว่าจะสามารถสกัดกั้นโรคนี้ไม่ให้เข้ามาสู่ประเทศไทยได้" นายลักษณ์ กล่าว

อ่านต่อได้ที่ : https://www.ryt9.com/s/iq03/2980212