ปศุสัตว์ลุยตรวจสอบข้าวสาลีเลี้ยงสัตว์นำเข้าจากอินเดีย ตามที่คณะอนุกรรมการพิจารณาตรวจสอบการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และวัตถุดิบทดแทน (ข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์) ให้สิทธิในการนำเข้าข้าวสาลีมาในราชอาณาจักร ภายในเดือนพฤษภาคม 2565 กำหนดไว้ 146,894 ตัน ตาม พ.ร.บ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์

วันที่ 29 พฤษภาคม 2565 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์และวัตถุดิบอาหารสัตว์ เพื่อให้การนำเข้า-ส่งออก การผลิต และการขายทั้งอาหารสัตว์และวัตถุดิบอาหารสัตว์ได้คุณภาพมาตรฐาน

ตลอดจนมีการเก็บรักษาอย่างถูกวิธีและโฆษณาตามความเป็นจริง สอดคล้องกับเงื่อนไข หลักเกณฑ์ และวิธีการตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558 มีการขึ้นทะเบียนขอใบอนุญาต และขอใบรับรองระบบประกันคุณภาพอาหารสัตว์หรือใบรับรองอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นการป้องกันอาหารสัตว์และวัตถุดิบที่ปลอมปน เสื่อมคุณภาพ ผิดมาตรฐาน หรือไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ เพื่อประโยชน์ในการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์และคุ้มครองความปลอดภัยผู้บริโภค จึงได้สั่งการให้กองควบคุมอาหารและยาสัตว์ลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพอาหารสัตว์และวัตถุดิบอาหารสัตว์อย่างเข้มงวดต่อเนื่อง 

กองควบคุมอาหารและยาสัตว์ โดยนายสัตวแพทย์รักไทย งามภักดิ์ ผู้อำนวยการกองควบคุมอาหารและยาสัตว์ พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบการขนถ่ายข้าวสาลีเมล็ดนำเข้าจากประเทศอินเดีย ณ ซีอาร์ซีการท่าเรือ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ โดยมีการเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พร้อมทั้งกำชับผู้นำเข้าต้องปฏิบัติตามระเบียบ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด

โดยเฉพาะข้าวสาลีเมล็ด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศ ต้องตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานข้าวสาลีทุกครั้งที่มีการนำเข้า โดยเป็นไปตามแผนการนำเข้าตามที่คณะอนุกรรมการพิจารณาตรวจสอบการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และวัตถุดิบทดแทน (ข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์) ให้สิทธิในการนำเข้าข้าวสาลีมาในราชอาณาจักรภายในเดือนพฤษภาคม 2565 ซึ่งกำหนดไว้ที่ 146,894 ตัน จากประเทศอินเดียและออสเตรเลีย จนถึงปัจจุบัน ได้มีการนำเข้าแล้ว 64,220.45 ตัน

ซึ่งการนำข้าวสาลีเมล็ดมาใช้เพื่อทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้น ควรคำนึงถึงชนิดสัตว์ ช่วงอายุการผลิต ปริมาณความต้องการของสัตว์ รวมถึงคุณค่าทางโภชนการหรือการย่อยได้ จึงอาจจำเป็นต้องมีการเติมสารช่วยย่อย กรดอะมิโน และเอนไซม์ในสูตรอาหารสัตว์ก่อนนำไปเลี้ยงสัตว์ด้วย

ปัจจุบันการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและวิทยาการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และการเลี้ยงสัตว์เติบโตขยายมากขึ้น จึงต้องมีการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานอาหารสัตว์และวัตถุดิบอาหารสัตว์อย่างเข้มงวด เพื่อประโยชน์ในการควบคุมอาหารสัตว์ให้ได้คุณภาพมาตรฐานและเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค

 

ข้อมูล : ประชาชาติธุรกิจ