วันพุธที่ 1 มิถุนายน 2565 เวลา 08.30 น. นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงานวันดื่มนมโลก 1 มิถุนายน ประจำปี 2565 (World Milk Day 2022) เพื่อกระตุ้นให้คนไทยหันมาบริโภคนมมากขึ้น และช่วยส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกรไทยผู้เลี้ยงโคนมมีรายได้มั่นคง โดยมีนายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวรายงาน ดร.ดำรง ศรีพระราม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวต้อนรับ Mr.Sonevilay Nampanya Livestock Development Officer องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ นายพีระ ไชยรุตย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย และเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน กรุงเทพฯ
นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ตามที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) ได้กำหนดให้วันที่ 1 มิถุนายนของทุกปี เป็น “วันดื่มนมโลก” หรือ “World Milk Day” เพื่อให้ประเทศและองค์กรต่างๆ ให้ความสำคัญและร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์บริโภคนมโดยในปี 2565 ได้กำหนดแคมเปญไว้ว่า “EnjoyDairy” ภายใต้แนวคิด “สร้างความสุข เสริมภูมิคุ้มกัน ดื่มนมทุกวัน ดื่มได้ทุกวัย บริโภคนมได้หลากหลายเมนู” เพื่อรณรงค์การบริโภคนมในสังคมไทย มุ่งสร้างความเข้าใจและการรับรู้ ในวงกว้าง อีกทั้งเป็นการช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมไทยมีความมั่นคงด้านอาชีพการเลี้ยงโคนม ตามวัตถุประสงค์ของนโยบายคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม ในการส่งเสริมการบริโภคนมของคนไทยให้เพิ่มขึ้นจาก 18 ลิตร/คน/ปี เป็น 25 ลิตร/คน/ปี ภายในปี 2570
นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมวันดื่มนมโลกได้รับความร่วมมือและบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย กรมอนามัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเครือข่ายภาคีต่างๆ ได้แก่ เครือข่ายนมดีทุกวัยดื่มได้ทุกวัน ชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด สมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ สมาคมผู้เลี้ยงโคนมไทยโฮลสไตน์ฟรีเชียน สมาคมอุตสาหกรรมนมและอาหาร สมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารนมไทย สมาคมผู้ผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ และชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด ซึ่งมีกิจกรรมที่น่าสนใจให้ประชาชนได้เข้าร่วมอย่างมากมาย เช่น การออกบูธจำหน่ายสินค้าของบริษัทห้างร้านต่างๆ สาธิตการทำเมนูจากนมและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์นม กิจกรรมถ่ายภาพหรือวีดีโอคู่กับนมหรือผลิตภัณฑ์นมโพสต์และแชร์ลุ้นรับนมดื่มฟรี การจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมราคาพิเศษผ่านโซเชียลมีเดีย และกิจกรรมอภิปรายให้ความรู้เรื่องนมในหัวข้อต่างๆ เป็นต้น
ข้อมูล/ข่าว : กรมปศุสัตว์
ปศุสัตว์ลุยตรวจสอบข้าวสาลีเลี้ยงสัตว์นำเข้าจากอินเดีย ตามที่คณะอนุกรรมการพิจารณาตรวจสอบการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และวัตถุดิบทดแทน (ข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์) ให้สิทธิในการนำเข้าข้าวสาลีมาในราชอาณาจักร ภายในเดือนพฤษภาคม 2565 กำหนดไว้ 146,894 ตัน ตาม พ.ร.บ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์
วันที่ 29 พฤษภาคม 2565 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์และวัตถุดิบอาหารสัตว์ เพื่อให้การนำเข้า-ส่งออก การผลิต และการขายทั้งอาหารสัตว์และวัตถุดิบอาหารสัตว์ได้คุณภาพมาตรฐาน
ตลอดจนมีการเก็บรักษาอย่างถูกวิธีและโฆษณาตามความเป็นจริง สอดคล้องกับเงื่อนไข หลักเกณฑ์ และวิธีการตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558 มีการขึ้นทะเบียนขอใบอนุญาต และขอใบรับรองระบบประกันคุณภาพอาหารสัตว์หรือใบรับรองอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นการป้องกันอาหารสัตว์และวัตถุดิบที่ปลอมปน เสื่อมคุณภาพ ผิดมาตรฐาน หรือไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ เพื่อประโยชน์ในการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์และคุ้มครองความปลอดภัยผู้บริโภค จึงได้สั่งการให้กองควบคุมอาหารและยาสัตว์ลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพอาหารสัตว์และวัตถุดิบอาหารสัตว์อย่างเข้มงวดต่อเนื่อง
กองควบคุมอาหารและยาสัตว์ โดยนายสัตวแพทย์รักไทย งามภักดิ์ ผู้อำนวยการกองควบคุมอาหารและยาสัตว์ พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบการขนถ่ายข้าวสาลีเมล็ดนำเข้าจากประเทศอินเดีย ณ ซีอาร์ซีการท่าเรือ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ โดยมีการเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พร้อมทั้งกำชับผู้นำเข้าต้องปฏิบัติตามระเบียบ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
โดยเฉพาะข้าวสาลีเมล็ด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศ ต้องตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานข้าวสาลีทุกครั้งที่มีการนำเข้า โดยเป็นไปตามแผนการนำเข้าตามที่คณะอนุกรรมการพิจารณาตรวจสอบการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และวัตถุดิบทดแทน (ข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์) ให้สิทธิในการนำเข้าข้าวสาลีมาในราชอาณาจักรภายในเดือนพฤษภาคม 2565 ซึ่งกำหนดไว้ที่ 146,894 ตัน จากประเทศอินเดียและออสเตรเลีย จนถึงปัจจุบัน ได้มีการนำเข้าแล้ว 64,220.45 ตัน
ซึ่งการนำข้าวสาลีเมล็ดมาใช้เพื่อทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้น ควรคำนึงถึงชนิดสัตว์ ช่วงอายุการผลิต ปริมาณความต้องการของสัตว์ รวมถึงคุณค่าทางโภชนการหรือการย่อยได้ จึงอาจจำเป็นต้องมีการเติมสารช่วยย่อย กรดอะมิโน และเอนไซม์ในสูตรอาหารสัตว์ก่อนนำไปเลี้ยงสัตว์ด้วย
ปัจจุบันการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและวิทยาการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และการเลี้ยงสัตว์เติบโตขยายมากขึ้น จึงต้องมีการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานอาหารสัตว์และวัตถุดิบอาหารสัตว์อย่างเข้มงวด เพื่อประโยชน์ในการควบคุมอาหารสัตว์ให้ได้คุณภาพมาตรฐานและเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค
ข้อมูล : ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 25 พฤษภาคม 2565 นายสัตว์แพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยว่ากองสารวัตรและกักกัน ร่วมกับด่านกักกันสัตว์เพชรบุรีได้ ดำเนินการทำลายซากสัตว์ประเภทซากสุกรแช่แข็ง จำนวน 945 กล่อง น้ำหนัก 21,473 กิโลกรัม โดยวิธีฝังกลบ ณ ศูนย์กักกันสัตว์เพชรบุรี อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี หลังจากเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เข้าปฏิบัติงานตรวจสอบห้องเย็นในพื้นที่อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร จากได้รับรายงานทราบมาว่ามีการลักลอบนำเข้าซากสุกรมาจากต่างประเทศและเก็บซุกซ่อนไว้ในสถานที่ดังกล่าว
ซึ่งจากผลการตรวจสอบพบซากสุกร เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์จึงได้ทำการอายัดซากสุกรทั้งหมดไว้ พร้อมตรวจสอบเอกสารหลักฐานแสดงแหล่งที่มา เอกสารการเคลื่อนย้าย และทำการเก็บตัวอย่างส่งห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาเชื้อโรคระบาดสัตว์ โดยผลการตรวจสอบพบว่า ตรวจพบเชื้อโรคระบาดตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 จึงได้ดำเนินการทำลายซากสัตว์ที่ยึดได้ตามระเบียบกรมปศุสัตว์ ว่าด้วยการดำเนินการกับสัตว์หรือซากสัตว์ของกลางที่เป็นโรคระบาดหรือเป็นพาหะของโรคระบาด ซึ่งถูกยึดหรืออายัดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์หรือตามกฎหมายอื่น พ.ศ. 2558
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการตรวจสอบคุมเข้ม ทำลายแหล่งเนื้อเถื่อน และลงโทษผู้กระทำความผิด นอกจากนี้ได้ตรวจสอบห้องเย็นเพื่อกันการกักตุนสินค้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้หากประชาชนต้องการแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลเพิ่มเติม สามารถแจ้งได้ที่แอปพลิเคชัน DLD 4.0 หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225 -6888 ตลอด 24 ชั่วโมง
ข้อมูล : ประชาธุรกิจ
ปศุสัตว์จังหวัดขอนแก่น ได้ให้กลุ่มเกษตรกรเฝ้าระวังโรคปากเท้าเปื่อย-คอบวม-ไข้ขาแข็ง ในสัตว์ตลอดฤดูฝนอย่างเข้มงวด แนะกางมุ้งคลุมสัตว์เลี้ยงป้องกันแมลงพาหะจนเกิดภาวะโรคระบาด
นายชาญประเสริฐ พลซา ปศุสัตว์จังหวัดขอนแก่น ได้ออกมาเปิดเผยพร้อมขอความร่วมมือกลุ่มเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ ทั้ง โคนม โคเนื้อ และกระบือ ซึ่งในจังหวัดของแก่น มีมากกว่า 56,000 ราย ให้เฝ้าระวังโรคที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน เนื่องจากภูมิคุ้มกันในสัตว์อาจจะลดลง จากภาวะฝนที่ตกหนักในช่วงที่ผ่านมา อาจจะส่งผลให้บางพื้นที่น้ำท่วมขังและเปียกขึ้น ส่งผลต่อสุขภาพสัตว์โดยตรง เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคต่าง ๆ ซึ่งโรคระบาดสัตว์ที่สำคัญในโค-กระบือนั้น ประกอบด้วย โรคปากและเท้าเปื่อย, โรคคอบวม และโรคลัมปี สกิน รวมถึง โรคไข้สามวัน หรือ โรคไข้ขาแข็ง อีกด้วย โดยตัวพาหะที่ทำให้สัตว์ติดเชื้อ มาจากเชื้อไวรัสผ่าน ยุง แมลงวัน และเห็บ ส่วนอาการป่วยของสัตว์ก็จะแตกต่างกันออกไป ทางปศุสัตว์ จังหวัดขอนแก่น ขอความร่วมมือให้เกษตรกรเร่งเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับโค-กระบือ ในพื้นที่ด้วยการกางมุ้งเพื่อที่ลดแมลงที่จะกัดและดูดเลือด รวมทั้งการพ่นยาฆ่าเชื้อและยาฆ่าแมลงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่มีการแพร่ระบาดของโรคที่กล่าวมาแต่ก็ต้องเตรียมการเฝ้าระวังไว้ก่อน
ขณะที่โรคฝีดาษลิงที่เกิดขึ้นในประเทศฝั่งยุโรปนั้น ทางนายชนินทร์ น่าชม นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ สำนักงานปศุสัตว์ ก็ได้ออกมาบอกว่า ตอนนี้ในประเทศไทยยังไม่มีการพบพาหะ หรือ ผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงในประเทศไทย แต่ก็อย่าละเลย ต้องเฝ้าระวัง โดยประสานไปยังกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดูแลรับผิดชอบเรื่องของสัตว์ป่า ก็ยืนยันว่ายังไม่มีการติดเชื้อฝีดาษลิงจากสัตว์ในไทย พร้อมของประชาชนอย่าตื่นตระหนก และขอให้รับข้อมูลจากทางราชการและเรียนรู้ในการป้องกันโรคซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่เราจะป้องกันโรคนี้ได้ในขณะนี้
ข้อมูล : Ch7
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่าตามที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์คุมสถานการณ์โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในวงจำกัด สำรวจจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรและจำนวนสุกร เร่งช่วยเหลือเกษตรกรสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อยกระดับความปลอดภัยทางชีวภาพ และร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางลดต้นทุนการผลิตและแก้ปัญหาราคาหมูในระยะยาว นั้น
กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันสามารถควบคุมสถานการณ์โรค ASF ได้ในวงพื้นที่จำกัด
จากการสำรวจข้อมูลจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรและข้อมูลประชากรสุกรในช่วงเมษายน 2565 ในประเทศไทย พบว่า
- สุกรแม่พันธุ์ คงเหลือในระบบการผลิตจำนวน 1,055,499 ตัว จังหวัดที่มีจำนวนสุกรมากที่สุด คือ
- สุกรขุน จำนวน 9,005,141 ตัว จังหวัดที่มีจำนวนสุกรมากที่สุด คือ
ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าจำนวนแม่พันธุ์ในระบบการผลิตค่อนข้างไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เนื่องจากราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ยังเป็นแรงจูงใจในการเลี้ยงสุกร สำหรับจำนวนสุกรขุนลดลง เนื่องจากหลายปัจจัยด้านต้นทุนการเลี้ยงทั้งค่าพันธุ์ ค่าอาหารสัตว์ ค่าน้ำค่าไฟ ค่าน้ำมัน ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับสภาพอากาศที่มีผลต่อการเลี้ยงสุกร โดยเมื่อนำมาคิดเป็นผลผลิตสุกรขุนที่ออกสู่ตลาดเฉลี่ยเดือนละ 1.5 ล้านตัว (เฉลี่ย 6 เดือน) ซึ่งยังเพียงพอต่อความต้องการตลาดเพื่อการบริโภคในประเทศ ที่คาดการณ์ไว้เดือนละประมาณ 1.50 ล้านตัว
สำหรับประเด็นแนวทาง ลดต้นทุนอาหารสัตว์ ล่าสุดวันนี้ (2 พ.ค.65) คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และคณะกรรมการนโยบายอาหาร มีข้อสรุปเพื่อดูแลปริมาณวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้เพียงพอภายในประเทศและการผลิตอาหารสัตว์ โดยให้สามารถนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ได้สะดวกและคล่องตัวยิ่งขึ้น และส่งเสริมการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์มาชดเชยส่วนที่ขาดในปัจจุบัน ยกเว้นเงื่อนไขที่กำหนดไว้เดิมกำหนดไว้ใน 3 เดือน คือ ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึง 31 กรกฎาคม 2565 ในการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน ต้องซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วนเป็นการชั่วคราวก่อน เพิ่มโควต้านำเข้าข้าวโพดจากเดิมกำหนดไว้ 54,700 ตัน เป็นไม่เกิน 600,000 ตัน และจะมีผลให้ลดภาษีนำเข้าข้าวโพดจากอัตรา 20% เป็น 0% เป็นการชั่วคราว ส่วนการนำเข้าช่องทางอื่นๆ ตามปกติ กระทรวงพาณิชย์จะช่วยจับคู่ธุรกิจ เพื่อส่งเสริมการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้เพียงพอในประเทศ โดยสามารถนำเข้าวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ทั้งหมดข้างต้น มีปริมาณรวมกันไม่เกิน 1,200,000 ตัน ตั้งแต่เดือนเมษายนถึง 31 กรกฎาคม 2565 เพื่อชดเชยส่วนที่ยังขาดให้มีเหลือพอใช้หนึ่งเดือน และให้ตั้งคณะอนุกรรมการ 5 ฝ่าย เพื่อติดตามประเมินการผลดำเนินการทั้งหมดและสามารถเสนอให้ทบทวนหรือปรับปรุงมาตรการเพื่อความเหมาะสม
อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการแก้ปัญหาระยะยาวได้ให้ปศุสัตว์ทุกพื้นที่เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกษตรกรในการยกระดับมาตรฐานและพัฒนาการเลี้ยงสุกรให้มีระบบปลอดภัยทางชีวภาพ เพื่อควบคุมโรคและลดผลกระทบความเสียหาย และได้ร่วมกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือทำโครงการ Lanna Sand Box เป้าหมายเพื่อสร้างพื้นที่นำร่องในระบบบริหารจัดการการเลี้ยงสุกรให้ปลอดจากโรค ASF ซึ่งจะเป็นการเพิ่มจำนวนการผลิตสุกรให้เพียงพอต่อการบริโภคในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ภายใต้ระบบมาตรฐานด้านความปลอดภัยทางชีวภาพของฟาร์มสุกรและสถานประกอบการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกรมปศุสัตว์ได้กำหนดแนวทางฟื้นฟูเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรโดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรรายย่อย-รายเล็ก กำหนดหลักเกณฑ์การนำสุกรเข้ามาเลี้ยงใหม่ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่เกษตรกรสามารถนำสุกรกลับมาเลี้ยงใหม่ได้อย่างยั่งยืน และมีแผนการเพิ่มผลผลิตสุกรพันธุ์ดีเพื่อจำหน่ายให้แก่พี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรโดยเฉพาะรายย่อย-รายเล็กอีกด้วย ทั้งนี้หากต้องการข่าวสารเพิ่มเติม หรือ พบสุกรที่สงสัยว่าป่วยหรือตายด้วยโรคระบาด หรือด้วยอาการผิดปกติไม่ทราบสาเหตุ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที หรือผ่านทางแอพพลิเคชั่นมือถือ “DLD 4.0” หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ หมายเลขโทรศัพท์ 063 225 6888 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ข้อมูล : กรุงเทพธุรกิจ
นายสัตว์แพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า โรคแซลโมเนลโลซิส (Salmonellosis) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียแซลโมเนลลาที่สามารถพบได้ตามธรรมชาติ โดยเชื้ออาศัยอยู่ในทางเดินอาหาร และลำไส้ของสัตว์ต่างๆ เช่น นก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม คน และแมลง ซึ่งเชื้อมีการกระจายและอาศัยอยู่ทั่วไปในธรรมชาติ จึงเป็นหนึ่งในสาเหตุที่พบบ่อยของโรคอาหารเป็นพิษจากการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร ที่ทำให้เกิดอาการลำไส้อักเสบในคน
ทั้งนี้ มาจากการบริโภคอาหารที่มาจากเนื้อสัตว์ดิบ หรือปรุงไม่สุก ไข่ดิบ ผลิตภัณฑ์ที่มีไข่ดิบ นมดิบ หรือนมที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ และผลิตภัณฑ์จากนม เช่น เนย ไอศกรีม เนยแข็ง และผักบางชนิด สามารถนำเชื้อก่อโรคจากสัตว์มาสู่คน หรือเป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคนได้ และการใช้น้ำที่สกปรกทางการเกษตร หรือใช้ล้างอาหารสด ทำให้เกิดการปนเปื้อนข้ามได้เช่นกัน
ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันการปนเปื้อนและคุ้มครองผู้บริโภคด้านความปลอดภัยอาหาร กรมปศุสัตว์ จึงได้มีการควบคุมและเฝ้าระวังโรคแซลโมเนลลาสำหรับสัตว์ปีกตลอดกระบวนการผลิต ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้องตามหลักวิชาการ
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า การควบคุมและเฝ้าระวังโรคแซลโมเนลลาสำหรับสัตว์ปีก มีทั้งนก ไก่ เป็ด ห่านที่เลี้ยงเพื่อการค้า ครอบคลุมทั้งสัตว์ปีกพันธุ์ สัตว์ปีกไข่ สัตว์ปีกเนื้อ และไข่ฟัก โดยจะมีการสุ่มเก็บตัวอย่างจากเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ที่ฟาร์มสัตว์ปีกพันธุ์และสถานที่ฟักไข่ นอกจากนี้ จะสุ่มเก็บตัวอย่างที่ฟาร์มสัตว์ปีก และฟาร์มสัตว์ปีกเนื้อ เพื่อส่งตัวอย่างตรวจวิเคราะห์หาเชื้อแซลโมเนลลาที่ห้องปฏิบัติการ และทำการรวบรวม และสรุปผลการตรวจวิเคราะห์ทุกเดือน
สำหรับสัตว์ปีกพันธุ์และสถานที่ฟักไข่สัตว์ปีก มีการตรวจวิเคราะห์เชื้อ Salmonella Enteritidis, Salmonella Typhimurium, Salmonella Hadar, Salmonella Infantis และ Salmonella Virchow ส่วนสัตว์ปีกไข่และสัตว์ปีกเนื้อ มีการตรวจวิเคราะห์เชื้อ Salmonella Enteritidis และ Salmonella Typhimurium
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ถ้ามีการตรวจพบเชื้อ ให้ทำการสอบสวนหาสาเหตุ เก็บตัวอย่างส่งวิเคราะห์ยืนยันการพบเชื้อ และหากยืนยันว่าพบเชื้อให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 และทำการเฝ้าระวังเชื้อต่อไป นอกจากนี้ ยังมีการเฝ้าระวังและควบคุมโรคที่โรงฆ่าสัตว์และโรงแปรรูปเนื้อสัตว์ โดยจะมีการเก็บตัวอย่างเนื้อสัตว์ปีก น้ำล้าง ซาก น้ำ และน้ำแข็งที่ใช้ในโรงฆ่าสัตว์ ส่วนโรงแปรรูปเนื้อสัตว์ จะมีการเก็บตัวอย่างอาหารปรุงสุก เพื่อตรวจวิเคราะห์เชื้อแซลโมเนลลา
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการป้องกันการติดเชื้อนั้น ผู้บริโภคควรเลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่มาจากแหล่งที่ได้คุณภาพมาตรฐาน และสามารถตรวจสอบย้อนกลับ โดยสามารถเลือกซื้อสินค้าปศุสัตว์จากแหล่งจำหน่ายที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์มีสัญลักษณ์ตรา “ปศุสัตว์ OK”
นอกจากนี้ ให้หลีกเลี่ยงรับประทานอาหารที่สุกๆ ดิบๆ เนื่องจากเชื้อนี้ถูกทำลายได้โดยความร้อน แนะนำให้รับประทานอาหารที่สะอาดและปรุงอาหารให้สุกโดยผ่านความร้อนอย่างน้อย 70 องศาเซลเซียส ใช้ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 นาที หมั่นล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร การแยกอาหารดิบออกจากอาหารปรุงสุก และทำการเก็บรักษาในตู้เย็นอย่างเหมาะสม จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อดังกล่าวได้
ส่วนผู้ประกอบอาหาร หรือบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกอาหาร ควรให้ความสำคัญในเรื่องความสะอาด และปฏิบัติตามหลักสุขอนามัยในกระบวนการผลิตอย่างเคร่งครัด
ข้อมูล : อินโฟเควสท์
ผู้เลี้ยง 6 ภาคเตรียมยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรั๊มป์ ขอให้ระงับการกดดันรัฐบาลไทยให้เปิดตลาดเนื้อสุกรจากสหรัฐเพื่อรักษามิตรภาพที่ดีระหว่างพลเมืองของไทยและสหรัฐอเมริกา
ผู้เลี้ยง 6 ภาคเตรียมยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรั๊มป์ ขอให้ระงับการกดดันรัฐบาลไทยให้เปิดตลาดเนื้อสุกรจากสหรัฐเพื่อรักษามิตรภาพที่ดีระหว่างพลเมืองของไทยและสหรัฐอเมริกา
8 พฤษภาคม 2561 สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ - ผู้เลี้ยงสุกรทั่วไทย 6 ภาคเตรียมยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรั๊มป์ ขอให้ระงับการกดดันรัฐบาลไทยให้เปิดตลาดเนื้อสุกรจากสหรัฐเพื่อรักษามิตรภาพที่ดีระหว่างพลเมืองของไทยและสหรัฐอเมริกา เพราะปี 2561 ครบรอบการเปิดสัมพันธ์ทางการทูตครบ 200 ปี หลังเปิดความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
วันที่ 9 พฤษภาคม 2561 พิธีไหว้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั่วไทย โดยใช้หัวหมูรวมจำนวน 4,247 หัว จะเป็นหน้าหนึ่งแห่งประวัติศาสตร์ของวงการสุกรไทย ที่มีพัฒนาการการเลี้ยงสู่ระดับโลก แต่ยังมีเกษตรกรอีกจำนวนมากที่จะต้องช่วยกันนำพากันสู่อาชีพที่มั่นคง ยั่งยืน ให้เป็นมรดกการทำกินตกทอดต่อกันไปชั่วลูกชั่วหลาน นอกเหนือจากการสร้างอาหารปลอดภัยให้ประชากรของชาติ
ความพยายามเปิดตลาดเนื้อสุกรสู่ประเทศไทยที่มีมากอย่างยาวนานของสหรัฐอเมริกา โดยอาจมองข้ามความสัมพันธ์ที่ดีของทั้งสองประเทศ จนอาจกลายเป็นการสร้างปมบาดหมางกันระหว่างพลเมืองของสองประเทศ ที่มีบริษัทข้ามชาติของสหรัฐมาประกอบธุรกิจและได้รับการอุดหนุนด้วยดีเสมอมากับพลเมืองของไทย
ในพิธีครั้งนี้นอกเหนือจากการไหว้สักการะและยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านผู้นำภูมิภาค พร้อมกันนี้จะมีการหนังสือถึง ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรั๊มป์ ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) สภาผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติสหรัฐ(NPPC) และท่านเอกอัครราชทูต กลิน ที. เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยด้วย โดยเน้นให้มองลึกถึงมิตรภาพและการไม่เปิดตลาดโดยมองข้ามความสัมพันธ์ที่ดีของพลเมืองทั้งสองประเทศ
เนื้อหาให้จดหมายภาษาอังกฤษจะเป็นดังนี้ :
เรียน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรั๊มป์
ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR)
สภาผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติสหรัฐ(NPPC)
ผ่าน ท่านเอกอัครราชทูต กลิน ที. เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย
เนื่องจากกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรไทย ได้ติดตามความพยายามแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าของสหรัฐอเมริกา และความพยายามช่วยเหลือการค้าเนื้อสุกรของเกษตรกรสหรัฐ โดยการเจรจากดดันรัฐบาลไทยให้เปิดตลาดเนื้อสุกรผ่านที่ประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา (TIFA JC) มาเป็นระยะหลายปี
ข้าพเจ้าขอแนะนำให้รู้จักกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรไทยที่มีผลผลิตสุกรท่วมท้นเกินกว่าความต้องการการบริโภคภายในประเทศประมาณกว่าร้อยละ 5 ในแต่ละปี และไม่ปรากฏว่าขาดแคลนผลิตภัณฑ์จากสุกรแต่ประการใดในทุกๆ ปี หลายสิบปีที่ผ่านมาผู้เลี้ยงสุกรไทยและภาครัฐร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมสุกรเพื่อการเป็นอุตสาหกรรมเลี้ยงชีพของพลเมืองไทย โดยดำเนินการพัฒนาสายพันธุ์ อาหารสัตว์ การจัดการสุขภาพสัตว์ เพื่อเกษตรกรของประเทศและอาหารปลอดภัยของประชากรไทย
อุตสาหกรรมปศุสัตว์ทั่วโลกเป็นเสาหลักของการบูรณาการการเกษตรเพื่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์และอาหารมนุษย์โดยเป็นห่วงโซ่อุปทานของทั้งต้นน้ำและปลายน้ำตามลำดับ เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมสุกรและเนื้อสุกรของสหรัฐและการส่งออกที่สร้างมูลค่าเพิ่มต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น เกษตรกรรมพืชอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ บริษัทเวชภัณฑ์สัตว์ และเป็นการสร้างผลบวกต่อดุลการค้าของประเทศ ซึ่งห่วงโซ่อุปทานการเลี้ยงสุกรของไทยก็เป็นไปในลักษณะเดียวกับอุตสาหกรรมสุกรของโลก
บริษัทข้ามชาติสัญชาติอเมริกันจำนวนมากเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยและได้รับการต้อนรับและสนับสนุนด้วยดีจากคนไทยซึ่งกว่าร้อยละ 25 เป็นประชากรจากภาคเกษตรกรรมที่รวมไปถึงประชากรที่อยู่ในภาคปศุสัตว์ เช่น อุตสาหกรรมสุกร ไก่เนื้อ และไก่ไข่ ฯลฯ
ถ้ารัฐบาลสหรัฐยังคงกดดันรัฐบาลไทยให้เปิดตลาดผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรจากสหรัฐ แน่นอนว่าเป็นผลดีต่อสภาผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติของสหรัฐและผู้เลี้ยงสุกรสหรัฐ ซึ่งมันจะเป็นภัยพิบัติต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรไทยและกระทบต่อเนื่องไปถึงเกษตรกรพืชอาหารสัตว์อื่นๆ ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นช่องทางทำมาหากินของคนไทย จากการเสียเปรียบในด้านการแข่งขัน กับ สหรัฐที่เป็นผู้ส่งออกเนื้อสุกรรายใหญ่ที่สุดของโลก
การแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าจำเป็นที่จะต้องขยายการส่งออกแต่ไม่ใช่กระทำการในลักษณะทำลายล้างมนุษยชาติด้วยกัน เพราะว่าการเกษตรเป็นการเลี้ยงชีพพื้นฐานของมนุษยชาติ ฝากให้ท่านพิจารณาด้วยว่ามนุษยธรรมมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความเข้าใจระหว่างประเทศ
ผู้เลี้ยงสุกรไทยขอแนะนำสหรัฐว่าควรหยุดเจรจากดดันรัฐบาลไทยให้เปิดตลาดเนื้อสุกรส่งออกมายังประเทศไทยที่มีผลผลิตมากอย่างท่วมท้นเกินกว่าความต้องการการบริโภคภายในประเทศ ในขณะที่มีการคัดค้านต่อเนื่องจากผู้เลี้ยงสุกรไทย ผู้เลี้ยงสุกรไทยใคร่ขอให้ตระหนักบนพื้นฐานของมิตรภาพระหว่างพลเมืองสหรัฐอเมริกากับพลเมืองของไทย
ข้อมูลจาก : สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งประเทศไทย